วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Enlightenment

ให้นิสิตเขียนบทความเพื่อตอบคำถามต่อไปนี้

Enlightenment ของสังคมไทยคืออะไร เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาของบทความและเนื้อหาจากการ Lecture ที่ได้อ่าน/เรียนมาในสัปดาห์นี้

- เพื่อตอบปัญหาดังกล่าว นิสิตอาจเชื่อมโยงกับประเด็นในวิทยานิพนธ์ของนิสิตเอง
- ในการเขียนบทความต้องมีการอ้างอิงเนื้อหาจากบทความที่ให้อ่านในชั้นเรียนอย่างน้อย 3 แห่ง และ ต้องมีการอ้างอิงกรณีศึกษา, นโยบาย, ข่าว และ/หรือ เหตุการณ์จริงอย่างน้อย 2 แห่ง

ส่งก่อนวันเข้าเรียนครั้งถัดไป (ก่อน 13:00 ของวันที่ 22 มิถุนายน 2553)
ความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 (โดยประมาณ)

22 ความคิดเห็น:

  1. 1. Modernity : An Introduction to Modern Societies ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
    1.1 The Enlightenment and the Birth of Social Science
    Enlightenment : เป็น จุดเริ่มต้น ของการเกิดแนวคิดสมัยใหม่ทางสังคม ทุกคนเริมหันมาสนใจและศึกษา
    ด้านสังคม และนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะเรื่อง เสรีภาพ และ ความเสมอภาค เป็นเปรียบเทียบระหว่าง วิทยาศาสตร์(ความมีเหตุผล หรือ ยุคสมัยใหม่) กับ ศาสนา(ความเชื่อ กับ ยุคเก่า) โดยแนวคิดสมัยใหม่เชื่อว่าโลกหมุนไปข้างหน้า
    พื้นฐานของ philosophes เชื่อว่าสังคมเป็นแก่นแท้กับชีวิต โดยองค์ความรู้ หรือ การใช้เหตุผล เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมสมัยใหม่ รูปแบบที่เกิดขึ้นทั้งหมดของแนวคิดสมัยใหม่อยู่ภายใต้ปัจจัยทางสังคม (Stuart Hall, David Held, Don Hubert, and Kenneth Thompson : Page 51-53)
    1.2 The Development of the Modern State
    การก่อรูปของ Modern State มีส่วนประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ 1.โครงสร้างทางการเมือง และกลุ่มสังคม และชนชั้น
    2.ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ซึ่งแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างลึกซึ่ง รัฐสมัยใหม่มีการแบ่งชนชั้น โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และระบบรัฐระหว่างประเทศ
    รัฐแห่งชาติ กลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะ ความต้องการชนะสงคราม(เศรษฐกิจ)ของคนกลุ่มหนึ่ง การทำสงครามเป็นการขยายขนาดและต้นทุน ทำให้รัฐใหญ่ขึ้น เกิดกระบวนการสะสมทุน(ระบบทุนนิยม) เปรียบเสมือนเศรษฐกิจของรัฐส่วนกลางถูกขยายออกไปอย่างมีนัยสำคัญ นำไปความชอบด้วยกฎหมายของอำนาจทางการเมือง ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยทางการเมือง” เกิดการกัดกร่อนอำนาจทางความเชื่อ นำไปสู่ลัทธิชาตินิยม
    เกิดความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ของ ระบบของรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่าง เศรษฐกิจโลก นำไปสู่ผลกระทบที่ตามมา (Stuart Hall, David Held, Don Hubert, and Kenneth Thompson : Page 84-87)
    1.3 The Beginnings of Modern Economics
    นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ มีการเปรียบเทียบลักษณะ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ของ 2 คือ ศตวรรษที่ 18 กับ
    ศตวรรษที่ 20 โดยศตวรรษที่ 18 เน้นที่สังคมเกษตรกรและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ส่วนศตวรรษที่ 20 เกิดสังคมอุตสาหกรรม และการค้า ขึ้น เกิดความหลากหลายของเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ยุคหลังสังคมอุตสาหกรรม ระบบอุตสาหกรรมเริ่มเสื่อมลง การบริการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เริ่มเป็นที่นิยม
    Modern Economics ทำให้ประชาชาติเกิดความมั่งคั่ง เกิดเศรษฐกิจทุนนิยม ระหว่าง ศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 นำไปสู่อำนาจและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และทางสังคม (Stuart Hall, David Held, Don Hubert, and Kenneth Thompson : Page 118-120)
    1.4 Changing Social Structures : Class and Gender
    สังคมสมัยใหม่(ระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ)ในยุครุ่งเรืองที่สุด เป็นแบ่งแยกระหว่างความยากจนและ
    ความร่ำรวย แบ่งแยกชนชั้นทางสังคม พื้นที่ และเชื้อชาติ ความแตกต่างของเพศยังคงเกิดขึ้น แม้ว่ากรอบของการจัดระเบียบทางสังคมจะถูกยกเลิก
    สำหรับความไม่เท่าเทียมของชนชั้นและเพศในอังกฤษ ปรากฎในระบบอุตสาหกรรมการผลิตบนพื้นฐานของนายทุน ความไม่เท่าเทียมกันในด้านเพศ ไม่ได้สร้างโดยระบบทุนนิยม เหมือนก่อนยุคสังคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่ 1945 รูปแบบสังคมอังกฤษ ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากหลายเงื่อนไข การผลิตอุตสาหกรรมยังอยู่บนพื้นฐานของระบบนายทุน ผลกำไร ความจำเป็นของกำไร สาขาของการทำงาน อย่างไรก็ตามการจัดระเบียบทางสังคม และชนชั้นทางสังคม ยังคงถูกแรงกดดันให้ดำรงอยู่ (Stuart Hall, David Held, Don Hubert, and Kenneth Thompson : Page 146-147)

    ตอบลบ
  2. 2. ประเทศไทย กับ Enlightenment
    2.1 ประเทศไทย มี Enlightenment หรือไม่ ?
    Enlightenment ในประเทศไทย สามารถพบได้ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่ง Enlightenment ที่เกิดขึ้นมีหลายด้าน อาทิ ด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ซึ่งสิ่งที่เปราะบางที่สุดคือ ด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างทางสังคมเราสามารถพบเห็นได้เสมอ โดยเฉพาะการเรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ทั้งที่ใช้วิธีการที่สงบ และ รุนแรง ตัวอย่างเช่น
    1. การพยายามแยกประเทศของ ชาวไทยเชื้อสายอิสลาม ทางภาคใต้ของไทย
    2. การพยายามเรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อคนคนเดียว ของกลุ่ม นปก.
    3. การพยายามโค่นล้มระบบการปกครองของกษัตริย์ ของคนบางกลุ่ม
    2.2 ความเชื่อทางพระพุทธศาสนากับการวางผังเมืองในอนาคต
    ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เชื่อในหลัก ไตรลักษณ์ คือ ทุกสิ่งมีการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับไป โลกก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎดังกล่าว สำหรับเมือง ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ กายภาพ(เนื้อเมือง) เศรษฐกิจ และสังคม(คน) โดยจะขอขยายความเฉพาะส่วน กายภาพ และสังคม
    1) ความเชื่อทางพระพุทธศาสนากับการวางผังเมืองในอนาคต
    ในการวางผังเมืองเชิงพุทธ ควรใช้หลัก “มัชฌิมาปฏิปทา” แปลว่า ทางสายกลาง หมายถึง ทางปฎิบัติที่ไม่
    สุดโต่งไปในทางอุดมการณ์ใดอุดมการ์หนึ่งเกินไป มุ่งเน้นใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา มักไม่ยึดถือหลักการอย่างงมงาย
    เช่น ถือวัตถุหรือจิตใจมีค่า ยึดสิทธิปัจเจกชนหรือสังคมสำคัญ ในทางพระพุทธศาสนา ทางสายกลาง คือ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา (http://th.wikipedia.org/wiki/. วันที่ 20 มิถุนายน 2553 และ สิริ กรินชัย. หน้า 4)
    1.1) ศีล คือ การฝึกกายและวาจาให้ละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมถึงการควบคุมจิตใจไม่ให้ตกอยุ่ในอำนาจฝ่ายต่ำด้วยการเลี้ยงชีวิตอย่างพอเพียง
    1.2) สมาธิ คือ ฝึกความตั้งใจมั่นจนเกิดความสงบ และทำสติให้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง
    1.3) ปัญญา คือ ให้จิตพิจารณาธรรมชาติจนรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง และตื่นจากมายาที่
    หลอกลวงจิตเดิมแท้
    การใช้หลัก “มัชฌิมาปฏิปทา” จะนำมาซึ่งการวางผังเมืองเชิงพุทธที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก การคิดและ
    ตัดสินใจ อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลอันแท้จริงของมนุษย์ ดังนั้น ในการวางผังที่ออกมา จึงต้อตอบสนองวิถีจริงของชีวิต
    2) ความเชื่อทางพระพุทธศาสนากับการพัฒนาคนในอนาคต
    ปัจจุบันสังคมเราได้รับผลกระทบจาก ระบบทุนนิยมอย่างหนัก โดยเฉพาะเด็กในรุ่นหลังๆ ทุกอย่างล่อตาล่อ
    ใจให้ใช้สิ่งสมมติที่เรียกว่า “เงิน” ในการซื้อหา “วัตถุ” ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขมาใส่ตัว ความสุขไม่ได้เกิดจากตัวเอง เกิดสังคมของความเห็นแก่ตัว ทุกคนต้องการเป็นผู้รับมากกว่าการเป็นผู้ให้
    ในการพัฒนาเมืองก็เช่นกัน ถ้าพัฒนาแต่กายภาพ ไม่พัฒนาคนหรือสังคมไปพร้อมกัน ความยั่งยืนย่อมไม่เกิด ดังนั้น การลดความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกูของกู เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อไหร่ที่เราคิดถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม มากกว่า ส่วนตัว และทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ตั้งแต่ คนกวาดถนน ไปจนถึง กษัตริย์ สังคมที่สงบสุขก็จะยังดำรงอยู่ หรือ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและสร้างสรรค์เสมอ (พระธรรมโกศาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ). 2542 : 11-13)
    2.3 Thesis กับ Enlightenment
    Thesis : การอนุรักษ์และฟื้นฟูที่อยู่อาศัยที่มีคุณค่างทางวัฒนธรรม สมุทรสงคราม
    ในการดำเนินการวิจัยในเรื่องดังกล่าว ได้นำ Enlightenment มาเป็นหลักในการศึกษาด้วย คือ การให้ชาวชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม(มากน้อยตามความเหมาะสม)ในการศึกษาวิจัยทุกขั้นตอน เพื่อนำไปสู่ผลการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของสังคมและนำไปสู่การปฎิบัติได้จริง
    3. Reference
    พระธรรมโกศาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ). ธรรมะเพื่อชีวิต ข้อคิดเตือนใจสำหรับดำเนินชีวิต. สำนักพิมพ์ธรรมสภาและศูนย์
    หนังสือพระพุทธศาสนา : กรุงเทพมหานคร. 2542.
    สิริ กรินชัย. บทไหว้พระสวดมนต์. กรุงเทพมหานคร.
    Stuart Hall, David Held, Don Hubert, and Kenneth Thompson. Modernity An Introduction to Modern
    Societies. UK. 1995.
    http://th.wikipedia.org/wiki/. วันที่ 20 มิถุนายน 2553

    ตอบลบ
  3. What was the Enlightenment?
    โดย ธนัช สุขวิมลเสรี

    The Enlightenment (ความสว่างทางปัญญา การเรืองปัญญา2 การรู้แจ้งเห็นจริง) เป็นขบวนการทางปัญญาของยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ให้ความสำคัญกับการใช้เหตุผล (Rationalism) ความเป็นวิทยาศาสตร์ เสรีภาพ และนวัตกรรม นักปรัชญาที่ร่วมกันทำให้เกิดขบวนการนี้ รุ่นแรกได้แก่ Voltaire (1694-1778) Montesquieu (1689-1755) John Locke (1632-1704) Isaac Newton (1642-1727) รุ่นที่สอง ได้แก่ David Hume (1711-1776) Jean-Jacques Rousseau (1712-1778) Denis Diderot (1713-1784) และ Jean d Alembert (1717-1783) รุ่นที่สาม ได้แก่ Immanuel Kant (1724-1804) Adam Smith (1723-1790) Anne Robert Turgot (1727-1781) The Marquis de Condorcet (1743-1794) และ Adam Ferguson (1723-1816)[3] ขบวนการนี้มีการแสดงออกเป็นสองแนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก คือ การปฏิเสธความเชื่อดั้งเดิม และหันมาให้ความสำคัญกับความเชื่อใหม่อย่างสร้างสรรค์ มุ่งหน้าสร้างความรู้ด้วยการใช้หลักเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ เสรีภาพ และนวัตกรรมด้วยความคิดเชิงบวก เรียกแนวทางนี้ว่า Positive Enlightenment ส่วนแนวทางที่สอง มุ่งปฏิเสธความเชื่อดั้งเดิมด้วยวิธีการหักล้าง เป็นความคิดเชิงลบ เรียกว่า Negative Enlightenment แนวทางที่ Auguste Comte เลือกใช้เป็นแนวทางแบบแรก โดยใช้คำว่า Positivism หรือ ปฏิฐานนิยม ซึ่งหมายถึง ความเชื่อที่ว่าด้วยพัฒนาการความรู้ของมนุษย์ที่สามารถสร้างกฎทำนายปรากฏการณ์สังคมได้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical) หรือลัทธิประจักษ์นิยม (Empiricism) คือ ลัทธิความเชื่อที่ว่า สิ่งที่เราจะยอมรับว่าเป็นความจริงหรือเป็นความรู้ จะต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถมีประสบการณ์ตรงได้ หรือสามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส อะไรก็ตาม ถ้าหากว่าไม่สามารถมีประสบการณ์ตรงได้ ก็ถือว่าไม่ใช่ความรู้[1]

    ตอบลบ
  4. (ต่อ)
    Immanuel Kant ได้กล่าวถึง Enlightenment ว่า การที่คนเราหลุดออกจากสภาพเขลา ซึ่งความเขลาที่ว่านี้เกิดมาจากการที่พวกเขาทำตัวเองให้เป็นเช่นนั้น สภาวะด้อยพัฒนาที่ว่านี้คือ สภาพของการที่คนเราไม่สามารถใช้ความนึกคิดความเข้าใจของตัวเองได้ด้วยตัวเขาเอง โดยไม่ต้องการพึ่งการชี้นำของคนอื่น โดยความเขลานี้มีสาเหตุมาจากตัวของมนุษย์เอง นอกจากนี้ Kant เน้นย้ำว่า สิ่งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการเกิดรู้แจ้งเห็นจริงก็คือ “เสรีภาพ” โดยเฉพาะเสรีภาพในการใช้เหตุผลของตัวเองในเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมได้ในทุกๆ เรื่อง ด้วยเหตุนี้ หากสังคมใดเปิดโอกาสให้คนในสังคมมีโอกาสได้ใช้เหตุใช้ผล (rational) และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก็จะเป็นเงื่อนไขหนี่งที่จะนำไปสู่ยุค Enlightenment[4]

    Enlightenment ในสังคมไทย
    สนธิสัญญาเบาว์ริง ใน พ.ศ.2398 มีผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม โดยอิทธิพลจากประเทศตะวันตก รัชกาลที่ 4 และ 5 ทรงดำเนินการปรับปรุงระบอบการปกครองและการเศรษฐกิจให้มั่นคง มีการพัฒนาสังคมใหม่ให้เจริญทัดเทียมประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนไปสู่ภาวะทันสมัยในสังคมไทย นอกจากนี้หมอสอนศาสนาหลายคนที่เดินทางเข้ามาในกรุงสยามเพื่อเผยแผ่ศาสนา ได้แก่ หมอบลัดเล โดยมองว่าการเผยแผ่ศาสนานั้นจำเป็นต้องเริ่มด้วยการให้คนยอมรับนับถือ การขจัดความโง่เขลาออกไป และนำความรู้สมัยใหม่ในยุค Enlightenment ออกเผยแพร่ เรียกกันว่า “ความศิวิไลซ์”
    ความศิวิไลซ์ในความหมายของตะวันตกที่เคลื่อนย้ายมาสู่ตะวันออก มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ คือ สิทธิเสรีภาพ เทคโนโลยี ศาสนา และสื่อสิ่งพิมพ์5
    ตัวอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ การออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในกรุงสยามคือ Bangkok Recorder โดยพยายามนำแนวความคิดแบบตะวันตกเข้าเผยแพร่ การนำการปกครองแบบอเมริกันมาเผยแพร่ การดูถูกเหยียดหยามศาสนาพุทธ และเชิดชูศาสนาคริสต์มาเผยแพร่ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นอย่างมาก เช่น ในเรื่องของสิทธิสตรี หรือนโยบายอื่นๆ

    ตอบลบ
  5. (ต่อ)
    ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงส่งเสริมความเข้มแข็งของรัฐแบบไตรภูมิ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง มีการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน การเลิกทาสการ ให้มีระบบการศึกษา การแพทย์พยาบาลสมัยใหม่ ในทางวรรณกรรมทรงตั้งโบราณคดีสโมสร ทรงพระนิพนธ์ "ไกลบ้าน" ซึ่งเป็นแนวบันทึกความจำ การเดินทาง อัตชีวประวัติ (memoir journal หรือ autobiography) ซึ่งเป็นที่นิยมของนักเขียนในยุครู้แจ้ง (Enlightenment)
    เมื่อหันมาพิจารณาการเมืองไทย พบว่า ในการเรียกร้องทางการเมืองนั้น เริ่มที่จะมีการใช้ความรุนแรงทางการเมืองมาตลอด ยึดหลักกฎหมู่มากกว่ากฎหมาย ในขณะที่เป้าหมายของการปฏิรูปการเมือง (พ.ศ.2538-2540) ตามการรณรงค์และการเรียกร้องของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมไทยยึดระบอบประชาธิปไตย และปรับปรุงระบบรัฐสภาให้ทันสมัยและมีเหตุผล
    เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งของบุคคลและสื่อมวลชน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากความคิดเห็น (opinion) เป็นสิ่งที่ติดมากับมนุษย์ การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของมนุษย์จะช่วยให้สังคมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
    นอกจากนี้ การยอมรับให้บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นได้เป็นการยอมรับว่ามนุษย์เป็น "ผู้ทรงสิทธิ" ที่กฎหมายคุ้มครอง สิทธิในการแสดงความคิดเห็นนี้เป็นผลพวงมาจาก "ยุคความสว่างไสวแห่งปัญญา" ที่เรียกว่า "Enlightenment" ในยุโรป

    เอกสารอ้างอิง
    1 สุภางค์ จันทวานิช, ทฤษฎีสังคมวิทยา, พิมพ์ครั้งที่ 3, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
    มหาวิทยาลัย, 2553.
    2 วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ยุคเรืองปัญญา, http://th.wikipedia.org/wiki [21 June
    2010]
    3 Hall, S., Held, D., Hubert, D., and Thompson, K, Modernity: An introduction
    to modern societies, (หัวข้อ 2.1 หน้า 26).
    4 เรื่องเดียวกัน, (หัวข้อ 2.1 หน้า 26-27).
    5 เรื่องเดียวกัน, (หัวข้อ 2 หน้า 25).

    ตอบลบ
  6. ชูชาติ

    The Enlightenment นั้นหมายถึงแนวความคิดเบื้องหลังความเป็นสมัยใหม่อันมีรากฐานมาจากการแสวงหาองค์ความรู้ซึ่งเกิดขึ้นในทวีปยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลาง [Hall (1995), 25] โดยแนวคิด Enlightenment นั้นมุ่งประเด็นที่การศึกษาเกี่ยวกับ “มนุษย์” “สังคม” และ “ธรรมชาติ” โดยเชื่อว่าการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาข้อเท็จจริงทางสังคม มนุษย์สามารถศึกษา ทำความเข้าใจและสร้างเป็นองค์ความรู้ขึ้นมาได้อย่างเป็นระบบ โดยอาศัยหลักเหตุและผล และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายรากแนวคิดดั้งเดิมซึ่งถูกครอบงำด้วยความเชื่อทางศาสนาคริสต์ โดยมีกระบวนทัศน์ที่สำคัญ ดังนี้ [Hall (1995), 23-24]
    1. มีแนวคิด และนักคิดซึ่งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆ ได้แก่แนวคิดในเรื่องของความเชื่อในเรื่องเหตุผล เชื่อในความก้าวหน้าและการเรียนรู้ในทางวิทยาศาสตร์ (ความรู้นั้นมีที่มาจากประสาทสัมผัส การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และสามารถนำไปใช้ได้จริงเพื่อเอาชนะธรรมชาติ)
    2. เกิดการต่อต้านนักบวชและคริสต์จักร รวมถึงการครอบงำสื่อ
    3. เชื่อในความเป็นปัจเจกชน เชื่อในเสรีภาพ (ว่าเป็นธรรมชาติพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีเท่าเทียมกัน) เชื่อในความอดทนอดกลั้นที่จะอยู่ร่วมกันระหว่างโลกของชาวคริสต์และโลกของศาสนาอื่นๆ
    4. เกิดอาชีพนักคิด นักเขียน และผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของมืออาชีพสาขาต่างๆ และชนชั้นกลางในปัจจุบัน
    5. มีการผลิต และเผยแพร่ผลงานทางความคิดด้านต่างๆ (ซึ่งท้าทายความเชื่อทางศาสนา) ทั้งในด้านงานเขียน นโยบาย และพฤติกรรมต่างๆ

    ตอบลบ
  7. ชูชาติ (2)

    กล่าวโดยสรุป ในยุคแห่งการแสวงหาภูมิปัญญาในยุโรปเป็นยุคที่มีความพยายามที่จะนำหลักเหตุและผล และหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษา “สังคม” โดยอาจแบ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็น 3 ช่วง [Hall (1995), 26] กล่าวคือ
    1. ช่วงก่อร่าง ในช่วงแรกของยุค Enlightenment เป็นแนวความคิดที่ท้าทายความเชื่อทางศาสนา ยังไม่มีการแบ่งองค์ความรู้เป็นแขนงวิชา มีนักคิดสำคัญ เช่น Voltaire (1694-1778) และ Montesquieu (1689-1755)
    2. ช่วงผสมผสานแนวคิดในยุคก่อร่างกับกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายโลกอย่างเป็นระบบ เช่น Hume (1711-76) Rousseau (1712-78) Diderot (1713-84) และ d’Alembert (1717-83) เป็นต้น
    3. ช่วงแตกแขนงเป็นศาสตร์สาขาต่างๆ มี Kant (1724-1804) Smith (1723-90) Turgot (1727-81) de Condorset (1743-94) และ Ferguson (1723-1816) เป็นนักคิดสำคัญที่เป็นตัวแทนของช่วงนี้
    จะเห็นได้ว่าในยุคแห่งการแสวงหาภูมิปัญญาในยุโรปนั้นมีนักคิด นักเขียนสำคัญเกิดขึ้นมากมาย มีกระบวนการผลิตและเผยแพร่ความรู้อย่างเป็นระบบ โดยนักคิดในยุคนี้ต่างก็มุ่งประเด็นไปที่การแสวงหาความจริงในแง่มุมต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ โดยเน้นที่การใช้เหตุผล ผลสำคัญประการหนึ่งที่เป็นผลึกความคิดของยุคแสวงหาภูมิปัญญาก็คือแนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพ และความเท่าเทียมของมนุษย์
    เมื่อพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ของไทย อาจกล่าวได้ว่าการแสวงหาความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย อาจเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งเกิดจากการที่พระองค์ทรงโปรดให้เจ้านาย และข้าราชการจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยจะเห็นได้จากการตั้งดุสิตธานีในสมัยรัชกาลที่ 6 กระนั้น ผลกระทบจากการพัฒนาสู่สมัยใหม่ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกในยุโรป ก็ชักนำให้เกิดการครอบงำโดยกระแสนิยมตะวันตกผ่านทางการเผยแพร่ประวัติศาสตร์และปรัชญาตะวันตกกระแสหลัก รวมทั้งการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่ก็มีความซับซ้อนต้องผ่านกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่ยาวนาน

    ตอบลบ
  8. ชูชาติ (3)

    ในช่วงรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงที่มีกลุ่มปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาจำนวนหนึ่ง เริ่มมีการเขียน และการเผยแพร่ความรู้ในวงที่กว้างขึ้น อย่างไรก็ตามศาสตร์ในบางแขนง เช่น เศรษฐศาสตร์ ก็ยังถูกห้ามมิให้เผยแพร่แก่ประชาชนในขณะนั้น สังเกตุได้จากการสั่งห้ามตีพิมพ์หนังสือ “ทรัพยศาสตร์” ซึ่งแต่งโดยมหาอำมาตย์เอกพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค พ.ศ. 2405-2479) [1] โดยทรัพยศาสตร์เป็นตำราเศรษฐศาสตร์เป็นตำราเศรษฐศาสตร์ฉบับแรกของไทย มีลักษณะนำเสนอแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และอธิบายถึงระบบเศรษฐกิจในประเทศตะวันตกสมัยนั้น ขณะเดียวกันก็นำเอาแนวคิดและกลไกระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยโดยไม่ลืมรากฐานที่ไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวนายากจน [กนกศักดิ์ แก้วเทพ (2529), 13] จะเห็นได้ว่าการห้ามตีพิมพ์ และการที่รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชหัตถเลขาวิจารณ์ตำรา “ทรัพยศาสตร์” เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการครอบงำความคิดโดยสถาบัน และเป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการแสวงหาความรู้ของสังคม ทั้งแนวโน้มในการครอบงำความคิดโดยสถาบันนี้ยังคงอยู่ภายหลังสิ้นรัชสมัย รัชกาลที่ 6 ดังจะเห็นได้จากการที่ รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ออกกฎหมาย ห้ามสอนลัทธิเศรษฐกิจโดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอาญา
    อย่างไรก็ตาม การที่จะสังคมใดจะก้าวสู่เข้าสู่ยุค Enlightenment แม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่มนุษย์ก็จะต้องเดินไปสู่ความก้าวหน้าของ Enlightenment ดังจะเห็นได้ว่าสังคมไทยภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้เปิดกว้างรับแนวคิด และความรู้จากตะวันตก ทำให้เกิดการตั้งคำถามในเชิงท้าทายศาสนา และสถาบันที่มีอิทธิพลครอบงำความคิดของประชาชน โดยในช่วงแรกมีนักคิดสำคัญก็คือ ศรีบูรพา และคณะสุภาพบุรุษซึ่งเป็นผู้นำแนวคิดในการนับถือความจริง การต่อสู้กับความอยุติธรรม และจิตวิญญาณเสรี แม้แนวโน้มเชิงประวัติศาสตร์ดังกล่าวจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคแห่งการแสวงหาภูมิปัญญา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการกล่อมเกลาทางสังคม และการสั่งสมต่อยอดองค์ความรู้ ไปจนกว่าจะถึงยุคแห่งการแสวงหาภูมิปัญญาที่แท้

    ตอบลบ
  9. ชูชาติ (5)

    เชิงออรถ
    [1] เชื่อกันว่าเป็นหนังสือที่เขียนโดยได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดจาก "The Principles of Political Economy with Some of Their Application to Social Philosophy" ของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (1805-1873) สาระสำคัญของทรัพยศาสตร์ คือการชี้สภาพความยากจนของประเทศไทย แนวทางแก้ไขด้วยการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการจัดระบบเศรษฐกิจไทยใหม่ เพื่อขจัดการเอารัดเอาเปรียบ และลดความแตกต่างทางรายได้และทรัพย์สิน โดยอาศัยแนวคิดว่าด้วย ชนชั้น ของเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์โครงสร้างของกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตของสังคมไทยในสมัยนั้น โดยระบุว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งของความยากจนของชาวนาไทยเกิดจากโครงสร้างทางชนชั้น เพราะชนชั้นเป็นตัวกำหนดการการแบ่งปันรายได้และทรัพย์สิน และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นปัจจัยทำให้มนุษย์มีฐานะสูงต่ำไม่เท่ากัน ข้อเสนอในการแก้ไขความยากจนคือการแบ่งรายได้และทรัพย์สินเสียใหม่โดยใช้เกณฑ์ของความสามารถ โดยให้ทุกคนแบ่งงานกันทำ จะทำให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจโดยรวมผู้เขียนใฝ่ฝันที่จะเห็นประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศที่มั่งคั่ง เข้มแข็ง เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองและมีความเป็นธรรมในสังคม [ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2530)]
    “ทรัพยศาสตร์ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม 2 เล่มแรกมหาอำมาตย์เอกพระยาสุริยานุวัตรเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2454 หลังจากลาออกจากราชการ เนื่องจากขัดแย้งกับเจ้าภาษีฝิ่น เพราะท่านได้โอนระบบเก็บภาษีฝิ่น จากเจ้าภาษีนายอากรมาเป็นของรัฐ แต่เมื่อพิมพ์ออกมา รัชกาลที่ 6 ไม่พอพระทัย ถึงกับทรงส่งเสนาบดีผู้หนึ่ง ไปพบพระยาสุริยานุวัตรที่บ้าน ขอมิให้เขียนอีกต่อไป ทั้งยังทรงเขียนวิจาณ์ ทรัพยศาสตร์ ลงในวารสารสมุทรสารของราชนาวีสมาคม พระองค์ทรงเกรงว่า "ทรัพยศาสตร์" จะทำให้คนไทยแตกแยกแบ่งกันเป็นชนชั้น ทางราชการจึงได้ขอร้องไม่ให้ผู้พิมพ์นำหนังสือทรัพยศาสตร์ออกเผยแพร่ หลังจากนั้นไม่มีใครกล้าเขียนตำรา หรือศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์โดยเปิดเผยอีก

    บรรณานุกรม
    ภาษาไทย



    ภาษาอังกฤษ
    Hall, S., Held, D., Hubert, D., and Thompson, K, Modernity: An introduction to modern societies, 1995, pp 19-54

    web
    1. http://blog.eduzones.com/sippa/681
    2. http://www.oknation.net/blog/amorn/2008/03/05/entry-1
    3. http://www.oknation.net/blog/amorn/2008/03/10/entry-1
    4. http://www.oknation.net/blog/amorn/2008/03/14/entry-1
    5. http://www.wsu.edu/~brians/hum_303/enlightenment.html

    ตอบลบ
  10. ขออภัย เราไม่สามารถดำเนินการตามคำขอของคุณได้

    เมื่อรายงานข้อผิดพลาดนี้กับฝ่ายสนับสนุนของ Blogger หรือในกลุ่มความช่วยเหลือของ Blogger โปรด:

    อธิบายสิ่งที่คุณกำลังทำ ขณะที่ได้รับข้อผิดพลาดนี้
    ระบุ รหัสข้อผิดพลาด และ ข้อมูลเพิ่มเติม ต่อไปนี้
    bX-xc0en9
    ข้อมูลเพิ่มเติม
    blogID: 5780962649332020134
    host: www.blogger.com
    postID: 3485799569729460084
    uri: /comment-iframe.do

    ข้อมูลนี้ช่วยให้คุณสามารถติดตามปัญหาและแก้ไข ขออภัยในความไม่สะดวก

    ค้นหาความช่วยเหลือ
    ดูว่าบุคคลอื่นมีปัญหาเดียวกันหรือไม่: ค้นหากลุ่มช่วยเหลือของ Blogger สำหรับ bX-xc0en9
    ถ้าคุณไม่ได้รับผลลัพธ์สำหรับการค้นหานั้น คุณสามารถเริ่มต้นหัวข้อใหม่ โปรดอย่าลืมระบุ bX-xc0en9 ในข้อความของคุณ

    ตอบลบ
  11. Enlightenment ของสังคมไทยต่อความเข้าใจ “ระบบย่าน” ของพื้นที่เมือง
    โดย ดำรง

    ผู้เขียนตอบได้เลยว่าสังคมเมืองของไทยในการอธิบายความสัมพันธ์ระดับย่านหรือระบบของย่านยังไม่เกิด Enlightenment ที่แท้จริง แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระดับชุมชนเมืองในแง่ของการพัฒนาเพราะชุมชนเมืองสามารถบ่งชี้ถึงสภาพปัญหาและความต้องการได้ชัดเจนซึ่งจะสัมพันธ์กับสถาบันการเมืองในอีกระดับหนึ่งในฐานะที่ชุมชนเมืองคือฐานอำนาจการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน ระบบย่านมีความสลับซับซ้อนและแบ่งได้เป็นหลายประเภท แต่หลักๆ แล้วสามารถแบ่งได้เป็นระบบย่านเก่า (tradition) และสมัยใหม่ (modern) ภายใต้ระบบย่านเก่า/ใหม่ก็สามารถแบ่งได้อีก เช่น ย่านชานเมือง ย่านการค้า ย่านที่พักอาศัย ย่านประวัติศาสนตร ย่านชนชาติ ย่านบันเทิง เป็นต้น การที่ทำให้เกิด Enlightenment ระดับสากลได้จำเป็นต้องได้รับการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อตอบคำถามหนึ่งในงาน Modernity ตอน Formations of Modernity โดย Stuart Hall (1995, หน้า 10) ในเรื่องระบบความเชื่อและทัศนะการมองโลก (Belief system and world-view) นั่นคือการสร้างชุดความเข้าใจคำว่า “ระบบย่าน” ผ่านกระบวนการศึกษาจนถึงขั้นพิสูจน์ได้และพัฒนาสร้างให้เป็นระบบความเชื่อและเกิดทัศนะการมองและความเข้าใจระดับท้องถิ่นและระดับโลก มันอาจจะกลายเป็นผลงานที่สำคัญในกระบวนการวางผังเมืองต่อไป การเปลี่ยนผ่านความคิดการวางผังทางกายภาพและสังคมเมืองที่สลับซับซ้อน นักวางผังเมืองต้องเข้าใจถึงบทบาทและความสัมพันธ์ของระบบย่านที่เกิดขึ้นแล้ว กระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับ movement จากลำดับชั้นทางสังคมดั้งเดิมและชุดความเชื่อประเพณีดั้งเดิมเกี่ยวกับโลกไปสู่แบบแผนใหม่ของโครงสร้างทางสังคมและวิถีความคิดเกี่ยวกับโลกสมัยใหม่ (Stuart Hall, 1995 หน้า 30) แต่เรากลับปรากฏว่ายังไม่สามารถก้าวข้ามพ้นการวางผังเมืองแบบดั้งเดิมอยู่คือความล้าสมัยและติดกับดักปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ ดังนั้นการวางผังเมืองของไทยจึงยังไม่ไปถึงเป้าหมายที่แท้จริง หรือถึงขั้นสร้างให้เป็นชุดระบบความเชื่อได้
    ยกตัวอย่างเช่นการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเสื้อแดงที่ย่านราชประสงค์ในประเด็นการเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม (ถึงแม้จะไม่ถูกนำเสนอในสื่อมากนัก) นั่นก็แสดงให้เห็นบทบาทหนึ่งของ “ย่าน” ในการทำหน้าที่เชิงพื้นที่และสัญลักษณ์ของการชุมนุมตามข้อเรียกร้อง ย่านราชประสงค์เป็นศูนย์กลางของการค้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของกรุงเทพกลายเป็นสถานที่ต่อรองทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพจนรัฐบาลไม่กล้าจัดการขั้นเด็ดขาด แต่เมื่อมาถึงจุดสุดยอดของสถานการณ์รัฐจำเป็นต้องลงมือจัดการ สำนักข่าวเนชั่นรายงานว่า “ราชประสงค์-ครบเส้นตาย!ม็อบบางตาลงขณะฮ.โปรยใบปลิวให้คนรีบออกไปด่วน 15.15 น. ร้านค้ารอบพื้นที่เรดโซนปิดหมด หลังครบกำหนด 15.00 น. ถนนโล่งปชช.หาย “ (www.oknation.net, 2010/05/17) ย่านจึงทำหน้าที่ในการส่งต่อภารกิจให้กับสถาบันที่เกี่ยวข้องทำงานต่อไป

    ตอบลบ
  12. หน้า 2 โดย ดำรง

    บทบาทย่านสมัยอีกกรณีหนึ่งคือการให้บริการประชาชน ระหว่างหน่วยบริหารจัดการเมืองกับหน่วยจัดการเดินทางในเมืองโดยเอกชนคือบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์บริการทำบัตรประชาชน BMA Express บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 3 สถานีคือสถานีหมอชิต สยาม และ พร้อมพงษ์ ให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 - 20.00 น. ให้บริการกรณีทำบัตรประชาชนครั้งแรกและต่ออายุบัตรเท่านั้น (http://www.bts.co.th) ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงย่านทำหน้าที่บริการประชาชนระหว่างการเดินทางไปกลับจากที่ทำงานและที่พักอาศัย บทบาทของย่านประการนี้ก็อาจจะเป็นกระบวนการหนึ่งไปสู่ Enlightenment ของระบบย่านในสังคมไทยที่ฉีกไปจากรูปแบบเดิม เมื่อความทันสมัยเดินทางมาถึงในวาระสถานที่และเวลาบรรจบกันการบริการรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้น
    สิ่งที่กล่าวถึงข้างต้นมันอาจจะตรงกับคำกล่าวของ Gay (1973) งาน Modernity ของ Stuart Hall (1995, หน้า 38) ว่า....”ความพยายามของมนุษย์ในการต่อสู้กับธรรมชาติเพื่อสร้างสมดุลอำนาจเข้าสู่สิ่งที่มนุษย์ต้องการ” ดังนั้น การสร้างให้เกิด Enlightenment ของระบบย่านในสังคมไทยนั้น เราต้องร่วมกันคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบให้การเคลื่อนผ่านวิธีคิดแบบ tradition ไปสู่ modernization อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดกระบวนการการวางผังเมืองแบบบูรณาการ และระบบย่านก็จะเป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญของการ Enlightenment การวางผังเมืองของไทย

    เอกสารอ้างอิง
    Stuart Hall, David Held, Don Hubert, and Kenneth Thompson (1996). Modernity: An Introduction to Modern Societies.

    เว็บไซด์
    http://www.bts.co.th/th/wbr_view.asp?id=47964
    ttp://www.oknation.net/blog/SOUTHERNPOST/2010/05/17/entry-8

    ตอบลบ
  13. ศศิธร
    ยุคสว่าง(the Enlightenment) หรือยุคเหตุผล(the Age of Reason)
    จากแนวคิดแบบโลกยุคเก่า อันได้แก่ เพลโต, โสเครติส ที่ใช้วิธีให้คำตอบเชิงปรัชญาสมบูรณ์ ดีแล้ว ณ เวลานั้นถือเป็นจุดยุติในการแสวงหาคำตอบที่เด็ดขาด ยากที่จะหักล้างลงได้ แต่แล้วก็กลับเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นก้าวสำคัญที่สุดในยุคสมัยใหม่(สตวรรษที่ 15-18) คือ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16-17 จุดที่นับว่าเริ่มต้นของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์คือ การค้นพบทฤษฎีสุริยจักรวาล ของ นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (ค.ศ.1473-1543) นักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์ ผู้แสดงความคิดว่าดวงอาทิตย์และคำสอนของพระในศาสนาคริสต์ที่เชื่อว่า พระเจ้าสร้างโลก สร้างดวงอาทิตย์ โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แนวคิดทางปรัชญาทั้งแนวแบบโลกยุคเก่าและยุคใหม่นี้ ได้นำไปประยุกต์ใช้ในสังคมมนุษย์ ทั้งในด้านการเมือง ศาสนา และเศรษฐกิจ โดยที่ยุคการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์นี้ จึงได้เรียกอีกชื่อว่า ยุคแห่งเหตุผล (Age of Reason) หรือ ยุคแห่งภูมิธรรม (The Enlightenment) ทำให้เกิดความก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ เช่น ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึงการนำไปสู่ปรากฏการณ์สำคัญๆระดับโลก คือ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม
    การเข้าสู่ยุคสว่าง(the Enlightenment) หรือยุคเหตุผล(the Age of Reason)นี้ ทำให้กลุ่มคนแบบสมัยใหม่ (Modern) ต่างรู้สึกตื่นรู้ (Enlighten) เป็นจุดเปลี่ยนของฐานความคิด(1) มีการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ อันให้กฎเกณฑ์ที่ตายตัว การทำนายที่แม่นยำ และ การควบคุมซึ่งธรรมชาติได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ กลุ่มสมัยใหม่นั้น เริ่มรุกไล่ที่จะวิพากษ์กลุ่มสมัยเก่าว่า งมงาย และ ขาดมาตรฐานที่แน่นอนเป็นสากล ถือเป็นวิทยาศาสตร์ปะทะความเชื่อทางศาสนารวมถึงไสยศาสตร์ต่างๆ อันเป็นประเด็นความท้าทายสิ่งที่เป็นอยู่ ถือเป็นการคิดแบบ Critical กับเรื่อง Status quo เลยทีเดียว มีการคิดวิพากษ์เหตุมีผลที่เรียกว่า Critical Rationalism(2) ค้นหาว่าสังคมเป็น Social fact ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ การยึดมั่นในศาสนา-ศาสดา ในขณะที่ หัวหอกสมัยใหม่อย่าง นิทเช่ (Nietzsche) กลับประกาศอหังการว่า “พระเจ้าตายแล้ว” เป็นต้น การแบ่งยุคสมัย (periodization) ศึกษาการก่อตัวของแนวคิดและยุคสมัย enlightenment และบริบทของการก่อตัวดังกล่าว นอกจากนั้นยังเกี่ยวเนื่องไปถึงกำเนิดและลักษณะสำคัญขององค์ความรู้สมัยใหม่ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการแบ่งแยกระหว่าง moral philosophy และ natural philosophy อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรม เป็นหนึ่งในวิชาหลักของ วิชาปรัชญา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความดีงามทางสังคมมนุษย์ จำแนกแยกแยะว่าสิ่งไหนถูกและสิ่งไหนผิด นำไปสู่ความกล้าที่จะเปลี่ยน (Dare to change) สู่ความหลุดพ้นหรือเทียบคล้ายคำที่หมายถึงคำว่า enlightenment ที่คล้ายกับคำในพุทธศาสนานั่นเอง
    หลักการสำคัญของ Enlightenment (3) คือการนำความคิดที่เป็นระบบ (Reason) ร่วมหับความคิดเชิงหลักการและเหตุผล (Rationality) อิงตรวจสอบทั้งจากประสบการณ์และการทดลอง ซึ่งแต่เดิมในเรื่องความเชื่อทางศาสนา สิ่งเหนือจริง ไสยศาสตร์ รวมถึงความศรัทธาต่างๆนั้นเป็นสิ่งที่พิสูจ์ไม่ได้ โดยหลักการนี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นำไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ที่นำไปสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ (Modern Society) นำสู่สังคมที่เป็นในปัจจุบันนี้

    ตอบลบ
  14. ศศิธร page2
    จากหลักการข้อความข้างต้น ยังพบข้อขัดแย้งถึงเหตุการณ์ในยุคนั้น จากการวิเคราะห์บทความเรื่อง An Answer to the Question : What is Enlightenment? ของ Immanuel Kant และเป็นส่วนเดียวที่มีการกล่าวถึง ยุคแห่งการรู้แจ้ง (Enlightened Age)เห็นได้ว่า Kant ได้บอกอย่างชัดเจนว่า ยุคปัจจุบันในสมัยของ Kant กล่าวคือ สังคมเยอรมันในสมัยศตวรรษที่ 18 ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเฟรเดอริคนั้น ไม่ใช่ ยุคแห่งการรู้แจ้งแล้วแต่จึงเรียกได้ว่า เป็นยุคแห่งการตื่นรู้ (Awakening)แทน และการหลุดพ้นจากปัจจัยภายนอก คติความเชื่อ ค่านิยมดั้งเดิมต่างๆที่มาครอบงำจิตใจ นี่แหละน่าจะเป็นคีย์ที่สำคัญในการก้าวข้ามสิ่งยึดติด และกรอบความคิดของสังคมแบบเดิมๆ
    สำหรับประเทศไทย จะเข้าสู่ยุคที่จะต้องใช้ความเข้าใจของตนเองได้อย่างเข้าใจและมั่นใจ เปรียบใช้ได้เป็นอย่างดีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา การคิดหยั่งลึกให้เข้าใจถึงจิตใจตนเอง เอาชนะสิ่งปลุกเร้าและความเขลาในตัวมนุษย์เองนั้น โดยไม่ต้องได้ฟังเสียงนกกาจากภายนอกนั้น น่าจะใกล้เคียงเทียบได้กับหลักคิดของพุทธศาสนามรรค 8 อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการมีศีล การมีสมาธิ นำไปสู่การมีปัญญาตื่นรู้ ก่อนที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งจนแก้ปัญหาชาติได้ ซึ่งตรงกับส่วนของการทำสมาธิในทางพุทธศาสนาได้ดียิ่งทีเดียว
    ในการรวบรวมสภาพความเป็นจริง ประเด็นปัญหานั้น ต้องถือหลักการตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ความจริงอันประเสริฐ คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นแก่นธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นแนววิเคราะห์เรื่องราวปัญหาในสถานการณ์นั้นๆ การทำสมาธิก็คือการทำใจให้หยุดนิ่ง อยู่ภายในกลางกาย กล่าวคือการดึงใจกลับเข้ามาสู่ภายใน เป็นการดึงใจที่ซัดส่ายไปในปัจจัยแวดล้อมภายนอกต่างๆที่รบกวนก็ตามดึงกลับมาไว้อยู่กับตัวของเราให้มามีอารมณ์เดียว โดยการมองลึกถึงจิตใจตนเอง ฟังเสียงปัญหาและบ่มคมประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขให้แจ่มชัดโดยการใช้หลักการของสมาธิเข้ามาช่วย
    อีกทั้งเมื่อพิจารณาความหมายของ ยุคแห่งการตื่นรู้ ( Age of Enlightenment) การตื่นรู้นั้นเป็นกระบวนการที่มีจุดเริ่มต้นชัดเจน เริ่มจากการมีความกล้าที่จะใช้ความเข้าใจจากส่วนลึกของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การที่กล้าจะแสดงความคิดเห็น และแสวงหาคำตอบ การตื่นรู้ เป็นธรรมชาติ หรือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของความเป็นมนุษย์ ที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่และจะต้องได้นำออกมาใช้ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้ การดำเนินการสถาบันทางสังคมใด ๆ ตลอดจนอำนาจ หรือข้อตกลงสัญญาใด ๆ หรือแม้แต่เจตจำนงของตัวมนุษย์ผู้นั้นเองก็ตาม ที่จะเป็นการขัดขวางไม่ให้กระบวนการตื่นรู้นี้ดำเนินไป จึงถือว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิ์ และเป็นอาชญากรรมต่อความเป็นมนุษย์เลยทีเดียว
    จากความคิดที่ว่า ความตื่นรู้ น่าจะเป็นความสามารถ และสิทธิตามธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์เอง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดโดยสังคม กฎเกณฑ์ หรือเงื่อนไขของยุคสมัย หรือกาลเวลา ดังนั้น ยุคแห่งการตื่นรู้ (Age of Enlightenment) หมายถึง ยุคใด ๆ ก็ตามที่มนุษย์ทุกคนในสังคมมีการเริ่มต้น หรือมีความกล้าที่จะเริ่มต้น และสามารถใช้เหตุผลซึ่งเกิดจากความเข้าใจของตนเอง ในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนตั้งคำถามต่อความคิด ความเชื่อ การดำเนินการ หลักการ ตลอดจนสถาบันต่าง ๆ ทางสังคมได้ เป็นความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาข้อกำหนด ปัจจัย กฎเกณฑ์ หลักการ และสถาบันทางสังคมของมนุษย์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นไป ตลอดจนความคิด จิตใจ และความต้องการของคนในยุคนั้น ๆ อาจกล่าวได้ว่า การตื่นรู้ เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความก้าวหน้า (progress) ของมวลมนุษยชาติ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือเศรษฐกิจ และการเมืองสำคัญต่างๆตามมามากมายเพื่อเป็นเรา ประเทศไทยในทุกวันนี้

    ตอบลบ
  15. ศศิธร page3
    ประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็นเป็นประเด็นแรก เนื่องจากจะเป็นประเด็นหลักที่จะใช้ในการพัฒนาความคิดต่อไปในบทความนี้ enlightenment มีอยู่จริงไหมในสังคมไทย ต้องเริ่มจากการศึกษาการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆหลังจากยุดปฏิวัติวิทยาศาสตร์สู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)ผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งในด้านเศรษฐกิจเกิดระบบโรงงาน เกิดระบบนายทุน เกิดการขยายตัวทางอุตสาหกรรมและเพิ่มรายได้ของประชากร ก่อให้เกิดความเจริญทางด้านการคำระกว่างประเทศ และมีการแข่งขันกันเพื่อความยิ่งใหญ่ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันทางเศรษฐกิจ เกิดความเหลื่อมล้ำกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและทำให้มีประเทศด้อยพัฒนาและประเทศพัฒนาเกิดขึ้น
    ส่วนที่สองในด้านสังคม ได้แก่ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เกิดเมืองใหญ่และแหล่งอุตสาหกรรม(เกี่ยวกับงานวางแผนภาคและเมืองของเรา) สภาพความเป็นอยู่และการทำงานของกรรมกรไม่ดี เกิดปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคม มีชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพในสังคม มีการใช้เครื่องจักรเป็นเครื่องมือในการทำสงคราม ส่วนที่สามในด้านการเมือง ได้แก่ ชนชั้นกลางได้อำนาจทางการเมือง กรรมกรได้รับการเลื่อนฐานะเป็นกำลังสำคัญทางการเมืองภายหลังการก่อตั้งสหบาลกรรมกร (Trade Union หรือ Labour Union) แล้วซึ่งต่อมาได้ก้าวไปสู่การก่อตั้งพรรคกรรมกรขึ้น รัฐบาลได้ช่วยเหลือในการปรับปรุงความเป็นอยู่ของกรรมกรให้ดีขึ้น เกิดลัทธิจักรวรรดินิยม อันสืบเนื่องมาจากความต้องการตลาดการค้าเพิ่มขึ้น ส่วนที่สี่ในด้านสติปัญญา ได้เกิดแนวความคิดที่แตกต่างกัน 2 ลัทธิ คือ ลัทธิเสรีนิยม (Liberalism) ผู้ก่อตั้งลัทธินี้คือ อดัม สมิธ เขาเน้นในเรื่องการดำเนินงานธุรกิจการค้าแบบเสรี (Laissez Faire) โดยรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยที่สุด และลัทธิสังคมนิยม (Socialism) ผู้ก่อตั้งลัทธินี้คือ คาร์ลมาร์กซ์ ซึ่งเขาเน้นในการที่ให้รัฐบาลเป็นเจ้าของกิจการสำคัญ เช่น เหมืองแร่ รถไฟ ส่วนกิจการเล็กๆ ให้เอกชนเนินการเอง นักสังคมนิยมที่สำคัญนอกจากมาร์กซ์ ได้แก่ โรเบิร์ต โอเวน, ฟรีดิช เองเกลส์ จึงต้องนำมาศึกษาเปรียบเทียบหาข้อดีข้อเสียหาความเหมาะสมต่อกรณีของประเทศไทยต่อไป เป็นต้น
    สำหรับประเทศไทย สรุปจากหนังสือ A history of Thailand โดย Chris Baker และ Pasuk Phongpaichit () ที่กล่าวถึง"สยาม" โบราณก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งจะเป็น "ประเทศชาติ" (Nation State) จากเดิม ทวารวดี, ศรีวิชัย, สุโขทัย, อยุธยา เป็นเพียงหัวเมืองหรือนครรัฐ (City States) และอาณาจักรขนาดเล็ก (Principalities) ที่ต่างแย่งชิงขึ้นเป็นใหญ่ ผู้คนในนครรัฐ อาณาจักรเล็กเหล่านี้ล้วนมีหลายเชื้อหลายภาษาประสมประสานกัน ไม่มี "ชาติ" หนึ่งใดเป็นใหญ่ แต่ช่วยกันสร้างศิลปวัฒนธรรม โดยนักคิดสมัย ร.1-ร.2 จะคิดหวนกลับสู่อดีตโดย "รื้อฟื้น" กรุงศรีอยุธยา โดยอยู่ในช่วงแสวงหาคติการปกครองที่เหมาะสม จนถึงสมัย ร.2นักคิดชาวสยามเริ่มสนใจโลกตะวันตก มี "ตำราชนะสงคราม" (Military Science), "ไตรภูมิ" (Geography), โหราศาสตร์ (Astronomy) และมนูศาสตร์ (Administration) ล้วนดีกว่าตำราเดิมที่สยามเคยรับมาจากชมพูทวีป จนเมื่อ ร.4 เซ็นสนธิสัญญาเบาริ่ง (ค.ศ.1855 พ.ศ.2398) ท่านนำสยามเข้าสู่เศรษฐกิจโลกซึ่งสมัยนั้นหมายถึงจักรวรรดิอังกฤษ ระบบเศรษฐกิจ/การปกครองเดิมล้มเหลว ถึง ร.5 สยามกลายเป็นประเทศชาติ (Nation State) เป็นครั้งแรก เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสส่งนักภูมิศาสตร์เข้ามากำหนดชายแดนที่แน่นอนบนแผนที่ แต่นั้นมาโลกสากลสามารถรับได้ว่า สยามคือ Nation State เช่นเดียวกับรัฐชาติสมัยใหม่อื่น เช่น ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เบลเยียม, สหรัฐ เลียนแบบศิลปวัฒนธรรมและประเพณีตะวันตก และในต่างประเทศด้วยการเสด็จประพาสยุโรปอย่างเสมอผู้นำรัฐชาติอื่นๆ

    ตอบลบ
  16. ศศิธร page4
    สู่ยุคที่ไทยมีความเจริญทางเศรษฐกิจและความล้าหลังทางปัญญาเมื่อ วิเคราะห์ประวัติศาสตร์สยาม-ไทยสมัยใหม่ พบกระแส รัฐเข้ม (Strong State) ที่รัฐมีอาญาสิทธิ์ปกครองจากเบื้องบน และรัฐประชาชาติ (Civil State) ที่ประชาชนมีสิทธิ์ปกครองกันเอง พ.ศ.2428 (ค.ศ.1885) แต่กาลสมัยไม่อำนวย ลัทธิเผด็จการ (ฟาสซิสต์อิตาลี, นาซีเยอรมัน และชาติ-ทหารนิยมญี่ปุ่น) กำลังแพร่สะพัด จอมพลแปลกจึงนำไทยกลับเข้าสู่ระบบ "รัฐเข้ม" อีกครั้งหนึ่ง พาไทยเข้าไปอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1945) ไทยจึงต้องสลับไปมาระหว่างความเป็นรัฐเข้มกับรัฐประชาชาติ
    ทักษิณ ชินวัตร (5) ดึงเมืองไทยกลับไปสู่สภาพรัฐเข้มอีกแล้ว ด้วยการผูกขาดอำนาจ, ปิดบังความจริง ทั้งนี้เพราะเมืองไทยประเพณี รัฐเข้ม (รัฐบาลทหาร) แล้วคงมีอิทธิพลจนถึงปัจจุบันเพราะใช้เป็นหลักใหญ่ของรัฐมาช้านานจนฝังลึกและยังคงมีไว้ให้นักการเมืองในอนาคตรื้อฟื้นนำมาใช้งานอีกต่อไป
    สำหรับการศึกษาถึงกรณีประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ประเด็นปัญหาฮอทฮิตร้อนแรงตอนนี้ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร การขาดการรับรู้ข่าวสารข้อมูลที่เท่าเทียมกัน เมื่อลองสืบค้นใช้มิติทางประวัติศาสตร์รวมถึง concept ในทางสังคมศาสตร์ เพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ องค์ประกอบ และการก่อตัวของสังคมไทยสมัยใหม่ รวมทั้งลองเปรียบเทียบ ทำความเข้าใจถึงปัญหา และสิ่งท้าทาย วิกฤติของสังคมไทยสมัยใหม่ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ เพื่อให้สามารถพัฒนาตัวตนอย่างเข้าใจรวมทั้งร่วมมีบทบาทต่อสังคมไทยสมัยใหม่ได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
    จากบทสัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ : ความอิจฉาเป็นบ่อเกิดแห่งความเสมอภาค ที่กล่าวว่า ความเสมอภาคมันเริ่มต้นด้วยความอิจฉา ความเสมอภาคมันเริ่มต้นจากการอิจฉารวมหมู่ การใช้ความอิจฉารวมหมู่ไปในทางสร้างสรรค์จะเป็นเส้นทางไปสู่ความเสมอภาค(4) เป็นตัวอย่างที่ดีของการแสดงถึงการตื่นรู้เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งรวมไปถึงการมีส่วนร่วมแก้ปัญหากรณีความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
    อ. พิชญ์กล่าวในห้องเรียนเสมอว่า นักคิดมักจะเป็นชั้นปัญญาชนที่อยากจะคิดหาจุดเปลี่ยนให้ดียิ่งๆขึ้น สอดคล้องกับฟูโกต์ที่ได้วิเคราะห์ว่าแนวคิดที่เป็นกระแสหลัก มองความเป็นจริง (Truth) และให้เครดิตชนชั้นปัญญาชนผู้เสนอความเป็นจริงอย่างแยกเป็นอิสระจากความสัมพันธ์ทางอำนาจ (Power Relations) รวมทั้งยังมองว่า ปัญญาชนที่แท้นั้นเป็นฝ่ายค้านการใช้อำนาจในทางกดขี่ด้วย แนวคิดดังกล่าวมองว่า ปัญญาชนเป็นผู้สืบทอดค่านิยมที่ เป็นสากล เช่นการพูดในนามของเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ความเป็นธรรม ความเป็นจริง แนวคิดที่มองปัญญาชนแบบสากล (Universal Intellectual) นี้ เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญายุคส่องสว่างทางภูมิปัญญา (Enlightenment) ของนักคิดกระฎุมพีมนุษย์นิยม (Bourgeois humanist) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ แนวคิดนี้ได้ส่งถ่ายต่อมาในวัฒนธรรมตะวันตก จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

    ตอบลบ
  17. ศศิธร last page



    พวกมนุษย์นิยมมองว่าปัญญาชน คือ ปัจเจกชนเด่นๆบางคนที่เป็นผู้พิทักษ์สิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์ เป็นผู้สนับสนุนมนุษย์นิยมและสืบทอดค่านิยมหรือ จิตสำนึกที่เป็นสากล คนพวกนี้ได้แก่พวกนักเขียนเด่นๆ เช่น วอลแตร์, รุสโซ, มองเตสกิเออหรือพวกนักกฏหมายที่ต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการและความไม่ เป็นธรรมทางสังคม ปัญญาชาเหล่านี้เรียกร้องให้มีกฏหมายที่เป็นธรรม สิทธิรัฐธรรมนูญที่พวกเขาเห็นว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปควรมีเป็นสากล (Universal)
    เพื่อการยืนยันถึงจุดยืนของฟูโกต์ทั้งในฐานะ ปัญญาชน และฐานะพลเมืองคนหนึ่ง รวมทั้งเราที่เป็นนิสิตปริญญาเอกที่ต้องน่าจะมีส่วนร่วมในการคิดหาทางแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่แนวทางที่ดียิ่งๆขึ้นไปของอนาคตประเทศไทยของเรา
    อ้างอิง
    The Enlightenment and the Birth of Social Science. 19-54. -Staurt Hall
    (1) Hall, S., D. Held, et al., Eds. (1995). Modernity: An Introduction to Modern Society. Cambridge, Polity Press.p.20
    (2) Hall, S., D. Held, et al., Eds. (1995). Modernity: An Introduction to Modern Society. Cambridge, Polity Press.p.22
    (3) Hall, S., D. Held, et al., Eds. (1995). Modernity: An Introduction to Modern Society. Cambridge, Polity Press.p.23-24
    Aristotle. The Politics. Available on http://www.constitution.org/ari/polit_00.htm [20 April 2009]
    Emanuel Kant. An Answer to the Question: What is Enlightenment. Available on http://www.english.upenn.edu/~mgamer/Etexts/kant.html [20 April 2009]
    Michael Hill, The Policy Process in the Modern State, Third Edition, Harlow, England : Prentice Hall, 1997.
    M. Foucault, “Truth and Power” (1977) in Colin Gordon (ed.) op.cit, p.133.
    M. Foucault, “Le Souci de la Verite” Magazine Littefair 1984, 207, 22 แปลเป็นภาษาอังกฤษ และอ้างไว้โดย Paul Patton, “Michel Foucault : Ethics of an Intellectual” in Thesis Eleven A Socialist Journal No. 10/11 1984-85, p.75.
    Thailand A history of Thailand, By Chris Baker and Pasuk Phongpaichit, Cambridge: Cambridge University Press, 2005. P. 301
    (4)'ประชาไท' สัมภาษณ์ รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ ในช่วง 11.00 น. ของวันที่ 8 ก.พ. 2549 http://prachatai.blogspot.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2506&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
    http://www.thaijaidee.com/forum/index.php?PHPSESSID=259ddae169eb510ef0ef06e2098e6a82&topic=2539.0
    (5) รายงานพิเศษ " ไม่สู้ในสงครามที่รู้ว่าพ่ายแพ้" กลยุทธ์"ธุรกิจ-การเมือง""ทักษิณ ชินวัตร" มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่26 ฉบับที่ 1325 วันที่ 6-12 มกราคม 2549

    ตอบลบ
  18. Enlightenment ของสังคมไทยคืออะไร เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    ตอบลบ
  19. Enlightenment ของสังคมไทยคืออะไร เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย
    Enlightenment เป็นยุคที่สนใจ Social มากขึ้น ด้วยเหตุที่ว่าสังคมสามารถศึกษาได้ ดังนั้นในทางกลับกันหากสังคมใดเปิดโอกาสให้คนในสังคมมีโอกาสได้ใช้เหตุใช้ผล (rational) และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก็จะเป็นเงื่อนไข
    หนี่งที่จะนำไปสู่ยุค Enlightenment เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยุค Enlightenment จะนำไปสู่ความใหม่ในเรื่องการศึกษาปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นและเห็นในสังคม การพยายามอธิบายให้ได้ว่าปรากฎการณ์ทางสังคมมันสะท้อนอะไรบ้าง เมื่อโลกก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ Enlightenment เป็นเสมือนฐานของ Modernity สังคมสมัยใหม่ อำนาจทางการเมืองในโลกจึงกระจายไปสู่ประชาชาติต่าง ๆ อาณาบริเวณต่าง ๆ อย่างทัดเทียมกันมากขึ้น การศึกษาทุกระดับขยายไปสู่ประชาชนวงกว้างขึ้น คนผิวสี ชนกลุ่มน้อย และคนกลุ่มย่อยในสังคมได้มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น เช่นเดียวกับสตรีก็ได้รับการเคารพและมีสิทธิทัดเทียมกับบุรุษมากขึ้น ความจริงทางโลกวิทยาศาสตร์ ความจริงโลกทางปรัชญา ความงามทางโลกศิลปะไม่ได้มีอยู่หนึ่งเดียว แต่มีหลายวิธีที่จะเข้าถึงความจริงเหล่านี้ เป็นต้น

    ตอบลบ
  20. Enlightenment ของสังคมไทยคืออะไร เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    ลักษณะของสังคมสมัยเก่า(ก่อน Enlightenment) และสมัยใหม่(หลังEnlightenment)

    สมัยเก่า สมัยใหม่
    การห้าม(จำกัดเสรีภาพ) เสรีภาพ
    เชื่อศาสนา เชื่อวิทยาศาสตร์
    ความเชื่อ การทดลองและการพิสูจน์ได้
    สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตย

    ตอบลบ
  21. Enlightenment ของสังคมไทยคืออะไร เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    ในประเทศไทยนั้นก็มีตัวอย่าง Enlightenment ที่เกี่ยวกับกระบวนการทางภูมิปัญญา ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง อาทิความเชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทำให้เกิดการต่อต้านระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการปฏิวัติล้มล้างการปกครองที่ไม่สนับสนุนความเท่าเทียม เช่น ยุคประวัติการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อันเนื่องมาจากสาเหตุที่ว่าด้วย ปัญญาชนรุ่นใหม่ต้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง ประชาชนเริ่มตื่นตัวทางการเมืองจากอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ ผลจากการปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ และคนรุ่นใหม่เห็นว่าการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้าสมัย คณะปฏิวัติหรือ คณะราษฏร์จึงได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฏร์ต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกันของสังคม ซึ่งแนวทางของคณะราษฏร์นั้นเน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักใหญ่ ให้ราษฏร์มีสิทธิเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ อีกตัวอย่างหนึ่งของ Enlightenment ที่เกี่ยวกับกระบวนการทางความเชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือ วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ

    ตอบลบ
  22. Enlightenment ของสังคมไทยคืออะไร เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    ตัวอย่างต่อมาเป็นตัวอย่าง Enlightenment ที่เกี่ยวกับกระบวนการของแนวคิดในเรื่องของความเชื่อในเรื่องเหตุผล (เชื่อว่ามนุษย์สามารถคิดได้) เชื่อว่าความรู้นั้นมีที่มาจากประสาทสัมผัส การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในสถานการณ์ต่างๆ เชื่อในความก้าวหน้า เชื่อในความเป็นปัจเจกชน ขอยกตัวอย่าง ประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ของประเทศไทยระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐและกองทัพ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นเสมือนตัวแทนของภาคประชาชนยืนยันต่อ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ(ประเทศไทย) เพื่อพยายามชี้ปัญหาเรื่องเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด “จีที 200” ว่าลวงโลก ไม่ใช่เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์แล้วทำไมรัฐบาลซื้อในราคาสูงถึง 1.4 ล้านบาทต่อชุด ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ประชาชนพยายามใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ด้วยการอ้างอิงทางกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อให้ภาครัฐและกองทัพทบทวนสิ่งเกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งในอดีตไม่มีใครกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นหรือออกตัวอย่างเปิดเผย

    ตอบลบ