วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Marx, Durkheim & Weber

ให้นิสิตใช้กรอบ/แนวคิด/ทฤษฎีของ Marx, Durkheim และ Weber ในบทที่ 1 ของหนังสือ Social Theory and the Urban Question - Saunders ในการอธิบาย/วิเคราะห์เมือง และ/หรือพื้นที่ศึกษาในวิทยานิพนธ์ที่นิสิตกำลังสนใจอยู่ โดยต้องยก Qoute ของนักคิดทั้งสามท่านละ 2 Quotes ประกอบการเขียนด้วย

26 ความคิดเห็น:

  1. การส่งให้ส่งทั้งใน "ความคิดเห็น" ของ blog นี้ และ print out เพื่อส่งให้อาจารย์ผู้สอนในด้วย

    ตอบลบ
  2. แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim กับเมืองสามารถอธิบายอะไรได้บ้าง

    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    Marx อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเมืองว่าเกิดจากกระบวนความคิดในเรื่องการต่อสู้ระหว่างชนชั้นของ Marx เห็นว่านายทุน (Capitalist) เอาเปรียบชนชั้นแรงงาน (Labourer) ทุกวิถีทาง โดยอำนาจของนายทุนก็เปรียบเสมือนเป็นผู้ข่มเหง เอาเปรียบผู้อื่นอำนาจของนายทุนคืออำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ยิ่งมีนายทุนเกิดขึ้นมาก Marx มองว่าคนอื่นก็จะยิ่งโดยเอาเปรียบ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคมยิ่งมีมากขึ้นหากชนชั้นกรรมาชีพรวมตัวเป็นสหภาพก็จะสามารถอำนาจเอาชนะนายทุนได้ เป็นต้น

    ตอบลบ
  3. แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim กับเมืองสามารถอธิบายอะไรได้บ้าง

    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    ตามแนวความคิดของ Marx ลำดับขั้นของการนำไปสู่การปฏิวัติของชนชั้นล่างของสังคมเกิดจากกระบวนการดังต่อไปนี้ คือ สังคมมีความต้องการในการผลิตมากขึ้น จนเกิดการแบ่งแยกแรงงานและมีนายทุนเกิดขึ้น ซึ่งทำให้มีการสะสมและพัฒนาทรัพย์สินส่วนบุคคล ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของความร่ำรวยและอำนาจที่เกิดขึ้นกับเฉพาะกับชนชั้นที่มีทรัพย์สินเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เกิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้นในสังคม เกิดตัวแทนทางการเมืองเพื่อทำการรักษาผลประโยชน์ของแต่ละชนชั้นจึงก่อให้เกิดการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามแนวความคิดของ Marx เป็นการต่อสู่ระหว่างระหว่างชนชั้นในสังคมที่เริ่มจากการกระทำซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการกระทำและเกิดการกระทำแบบใหม่ตามมา

    ตอบลบ
  4. แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim กับเมืองสามารถอธิบายอะไรได้บ้าง

    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    Weber ใช้หลักจิตวิทยามาใช้ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยการพัฒนาของสังคมในยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ตามลัทธิทุนนิยม มีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านจิตวิทยากับศาสนา จิตวิทยาที่เกิดจากจิตวิญญาณแบบทุนนิยม (Spirit of Capitalism) เกิดหลักการของศาสนาคริสต์ ซึ่งผลักดันให้สังคมแสวงหาสิ่งใหม่ ทำให้คนและสังคมพยายามมุ่งสู่ความสำเร็จเพื่อให้เกิดการยอมรับ การทำงานหนักก่อให้เกิดการสะสมความร่ำรวย และสามารถมีการเก็บออมเพื่อนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง Weber เสนอว่าการพัฒนาของจิตวิญญาณแบบทุนนิยมทำให้เกิดลัทธิความมีเหตุผล (Rationalism) ซึ่งภายใต้สังคมที่ใช้ความมีเหตุผลจะทำให้บุคคลมีความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ สุจริต ยอมรับสิ่งใหม่และสามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะแวดล้อมใหม่ ๆ Weber มีความเชื่อว่า อิทธิพลของความคิด ความเชื่อ และบุคลิกภาพของคนในสังคมภายใต้สภาวะดังกล่าวมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมา Weber มองว่าเรื่องการแบ่งชนชั้นทางสังคมไม่ได้แบ่งด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่แบ่งด้วยเกียรติ สถานภาพ และอำนาจ

    ตอบลบ
  5. แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim กับเมืองสามารถอธิบายอะไรได้บ้าง

    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    Durkheim มองว่าสังคมดั้งเดิมนั้นมีลักษณะเป็นแบบเชิงกลไกโดยที่สังคมนั้นเกาะเกี่ยวเป็นหนึ่งเดียวกันได้ด้วยสาเหตุที่ว่าทุกคนมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน ซึ่งทำให้มีสิ่งของรวมถึงความคิดที่เหมือนและไปกันได้ Durkheim เห็นว่าในสังคมดั้งเดิมนั้นสำนึกของกลุ่มนั้นมีบทบาทเหนือสำนึกของปัจเจก บรรทัดฐานนั้นเข้มแข็งและพฤติกรรมของสมาชิกก็อยู่ในกฎเกณฑ์ลักษณะของสังคมดั้งเดิมได้เปลี่ยนไปในสังคมสมัยใหม่ Durkheim มองว่าผลของระบบการแบ่งงานอย่างซับซ้อนทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมสมัยใหม่ กล่าวคือ ความชำนาญเฉพาะด้านในหน้าที่การงานรวมถึงบทบาททางสังคมทำให้เกิดการขึ้นต่อกันที่ยึดเหนี่ยวผู้คนเอาไว้ด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการกระทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว กล่าวคือ คนต้องพึ่งคนอื่นๆ ที่มีความชำนาญในด้านที่แตกต่าง ผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับการแบ่งงาน ในความคิดของ Durkheim นั้น คือการเกิดขึ้นของสำนึกของสมาชิกแต่ละคน ที่มักจะอยู่ในสภาวะขัดแย้งกับสำนึกของกลุ่ม จึงทำให้เกิดความสับสนกับบรรทัดฐาน และในที่สุดแล้วอาจทำให้เกิดการล่มสลายของพฤติกรรมที่อยู่ในกฎเกณฑ์ของบรรทัดฐานทางสังคม Durkheim เรียกสภาวะนี้ว่าสภาวะที่ไร้บรรทัดฐานทางสังคมทั้งหมด อันเป็นสภาวะที่ความปรารถนาของปัจเจกบุคคลมีได้ถูกบังคับไว้ด้วยบรรทัดฐานใดๆ ทางสังคมเลยสภาวะทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนหลายๆ แบบ เช่น อัตวินิบาตกรรม หรือ การฆ่าตัวตาย นั้นเอง

    ตอบลบ
  6. แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim กับเมืองกรุงเทพสามารถอธิบายอะไรได้บ้าง

    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    แนวความคิดแบบ Marx นำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับการประท้วงเรื่อง การเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตย การยึดอำนาจ การเปลี่ยนแปลงการปกครองและการปฏิวัติ หรือแม้กระทั่งการชุมนุมเรียกร้องอะไรบางอย่างของคนบางกลุ่มบางพวก เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทันที สำหรับในมุมของชนชั้นกรรมาชีพหรือแรงงาน ก็ก่อให้เกิดสหภาพแรงงานเพื่อสร้างพลังต่อรองอย่างเปิดเผย และเป็นที่รับรู้ของ นายทุน นายจ้างหรือกลุ่มนายจ้างดังนั้นสหภาพแรงงานจึงสามารถเจรจากับนายจ้างได้ทั้งในเรื่องของค่าจ้าง และสภาพการทำงานซึ่งทำให้เกิดตัวแทนในการรักษาผลประโยชน์ของแต่ละชนชั้นในสังคม

    ตอบลบ
  7. แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim กับเมืองกรุงเทพสามารถอธิบายอะไรได้บ้าง

    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    แนวความคิดแบบ Weber นำไปสู่ความคิดการจัดการสังคมเมืองที่เป็นระเบียบสาระสำคัญ กล่าวคือ รัฐบาลและกรุงเทพก็พยายามจะพัฒนาสังคมเมืองกรุงเทพให้มีการแบ่งงานโดยให้แต่ละคนทำงานในสาขาที่ตนมีความชำนาญ คนในสังคมจะต้องยึดถือกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยโดยเคร่งครัดเพื่อที่จะให้ได้มาตรฐานของสังคมมีความเท่าเทียมกัน การยึดถือกฎเกณฑ์นี้จะช่วยขจัดพฤติกรรมที่บุคคลแตกต่างกันให้สามารถมาประสานงานกันได้ บุคคลในสังคมต้องไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ส่วนบุคคลโดยต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อเป้าหมายของสังคม (ในความเห็นของข้าพเจ้าจุดนี้โดยรวมแล้วสอดคล้องกับหลักศาสนาพุทธด้วยซ้ำ) แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่เห็นในปัจจุบันกรุงเทพก็ยังไม่ค่อยได้ใช้แนวทางของแบบ Weber มาประยุกต์ใช้เท่าที่ควรเนื่องจากกรุงเทพมีความหลากหลายของประชากรเหตุเพราะเกิดจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานด้วยส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดี จึงทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมอยู่ค่อนข้างมากในกรุงเทพเนื่องจากการแบ่งงานกันทำเหมือนเดิม กลุ่มที่เป็นแรงงานในเมืองก็ทำงานทำหน้าที่ของตนเองไป ไม่มีทางได้ลืมตาอ้าปากเนื่องจากไม่มีผลตอบแทนที่เหมาะสม ขาดเวลา ขาดโอกาส อันต่อเนื่องมาจากระดับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งปัญหานี้มีมานานแล้ว สำหรับกลุ่มนายทุน ก็จะมีผลกำไรได้ตลอดเพราะจะมีฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้งยังมีแรงขับเคลื่อนและสามารถมีบทบาททางด้านการเมืองได้อีกด้วย

    ตอบลบ
  8. แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim กับเมืองกรุงเทพสามารถอธิบายอะไรได้บ้าง

    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    แนวความคิดแบบ Durkheim ปัจจัยหรืออิทธิพลทางเศรษฐกิจ อาชีพ ความต่างระหว่างเมืองกับชนบท เป็นปัจจัยทางสังคมที่สัมพันธ์กับปัญหาต่างๆในสังคมเมือง การจัดการกับปัญหาหรือการปรับตัวของชนชั้น ของคนบางกลุ่มอาจไม่ดี มีการกีดกันทางด้านเชื้อชาติ กลุ่มที่มีปัญหาพบกับความล้มเหลวในชีวิต อันเนื่องมาจากสังคมที่บีบคั้น เศรษฐกิจที่มีปัญหา หรือแม้กระทั่ง ทัศนคติที่มีปัญหาเนื่องจากตนเองรู้สึกหว้าเหว่ไม่มีที่พึ่ง รูปแบบการฆ่าตัวตายในสังคมโดยเฉพาะกรุงเทพจึงเกิดขึ้นหลากหลาย ตามหน้าหนังสือพิมพ์ การฆ่าตัวตายในสังคมเมืองเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ เพราะอิทธิพลทางสังคมถือเป็นกลไกทำสำคัญอีกแบบหนึ่งที่จะช่วยบรรเทา และเยียวยาปัญหานี้ได้และแน่นอน ถ้าหากสมาชิกในสังคมมีความเข้าใจต่อประเด็นทางสังคม ก็จะนำมาสู่การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการฆ่าตัวตายได้ด้วย

    ตอบลบ
  9. แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim

    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim กับงานของข้าพเจ้าสามารถอธิบายอะไรได้บ้าง งานของข้าพเจ้าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของ สลัม แหล่งเสื่อมโทรม และชุมชนแออัดที่เกิดขึ้นในเมืองและยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แนวความคิดแบบ Marx สามารถอธิบายได้ว่าสังคมเมืองกรุงเทพเป็นแบบสังคมทุนนิยม (Capitalism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของนายทุน คือ ที่ดิน ทุน แรงงาน และเครื่องจักร โดยมีผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ผลิต ถามว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับปรากฏการณ์ของ สลัม แหล่งเสื่อมโทรม และชุมชนแออัดที่เกิดขึ้นในเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพ ก็สามารถตอบได้ว่า กลุ่มนายทุ่นในกรุงเทพที่มีอำนาจเงินมาก หรือพวกตระกูลผู้มีอันจะกินต่างๆ ในกรุงเทพถือได้ว่าเป็นนายทุน ที่ถือครองปัจจัยพื้นฐานของชีวิตในกรุงเทพไว้ค่อนข้างมาก ปัจจัยนั้นคือ ที่ดิน ที่ดินโดนกว้านซื้อจนหมดเพื่อผลประโยชน์ในการเก็งกำไรและการทำธุรกิจ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กรรมกร ผู้มีรายได้น้อยไม่มีโอกาสที่จะได้ครอบครองที่ดินภายในเมืองเลย ทำให้การอยู่อาศัยต้องอยู่ตามบ้านเช่า หอพัก เช่าที่ดินอยู่ การทำงานก็ต้องเป็นลูกจ้าง จุดนี้เองที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ของ สลัม แหล่งเสื่อมโทรม และชุมชนแออัดที่เกิดขึ้นในเมือง การที่ชนชั้นล่างในกรุงเทพทำงานเพื่อความอยู่รอดนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดกำไรด้านเศรษฐกิจแก่กลุ่มชนชั้นล่างมากนักแต่มันกลับกลายไปเป็นว่าการทำงานของชนชั้นล่างนั้นมันไปตอบสนองความอยู่รอดของระบบทุนนิยม เศรษฐกิจในเมืองดีขึ้นดีขึ้น แต่ความเป็นอยู่ของชนชั้นล่างกลับแย่ลง เพราะชนชั้นล่างได้ทำงานเพื่อความต้องการของผู้อื่น ผู้อื่นในที่นี้ก็คือ นายทุนนั้นเอง มีประเด็นน่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับชุมชนแออัดกับการไล่รื้อในอดีต ชุมชนแออัดในที่ดินเอกชนมักถูกเคลียร์เพื่อแปลงสภาพพื้นที่ให้เป็นศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ บ้านจัดสรรหรือคอนโดหรู ขณะที่ชาวชุมชนก็ต้องยอมจำนน หรือก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยจึงมีการต่อต้านจนต้องมีการเผาไล่ที่กันเกิดขึ้น หากเราลองมองแบบสุดขั้วในการต่อต้านหากชาวชุมชนทุกชุมชนย้ายกลับภูมิลำเนาให้หมด(คนที่อยู่ตามสลัม แหล่งเสื่อมโทรม และชุมชนแออัดส่วนมากมาจากต่างจังหวัด) ลูกจ้าง กรรมกรลาหยุดกันทั้งเมือง กลับไปทำไร่ทำนา ทำสวน ทำประมง ชาวต่างจังหวัดรวมตัวกันตั้งกำแพงราคาสินค้าการเกษตร สินค้าจากชนบทที่จะเข้าสู่กรุงเทพมีมาตรเข้มจากชาวชนบท ที่นี้กลุ่มนายทุน สังคมเมืองคงเกิดปัญหาเป็นแน่แท้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่ได้กับกรุงเทพหรือทั้งประเทศไทย ในความเห็นของข้าพเจ้า เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม เรากลัวการไม่เหมือนโลกตะวันตกอันที่จริง เรากลัวการไม่พัฒนาเราจึงยอมรับมันและปล่อยให้ระบบทุนนิยมทำอย่างนี้กับกรุงเทพ ถามว่าการแก้ไขเป็นอย่างไรก็จะต้องมีคนถามต่ออีกว่าจะแก้ทำไมในเมื่อวงจรมันเป็นอย่างนี้ทั่วทั้งโลก คนที่อยากแก้ไขปัญหาพวกนี้จึงค่อนข้างแย่ไปตามๆกัน

    ตอบลบ
  10. แนวความคิดแบบ Marx, Weber และ Durkheim

    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    แนวความคิดแบบ Weber สามารถอธิบายได้ว่าสังคมเมืองกรุงเทพนั้นคนภายในสังคมเมืองแบบกรุงเทพพยายามมุ่งสู่ความสำเร็จเพื่อให้เกิดการยอมรับ การทำงานของชนชั้นต่างๆก่อให้เกิดการสะสมความร่ำรวยของเมือง และทำให้สามารถมีการเจริญเติบโตได้ แต่เราอย่าลืมมองว่าการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจที่ดีในเมือง นั้นยอมทำให้เกิดปัจเจกชน คำว่าปัจเจกชน (Individualist) ในที่นี้ก็หมายความว่า ทุกคนยึดถือในสิทธิเสรีภาพของตนเอง ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปโดยปัจจัยภายนอกอย่างง่ายๆ คนพวกนี้หากเปรียบเป็นเสมือนว่าเป็นกลุ่มนายทุน เขาจะไม่สนใจและเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ การกระทำ และเป้าหมายของกลุ่ม อาจใกล้เคียงกับแนวความคิดแบบ Durkheim สามารถอธิบายปรากฎการณ์ของสลัมได้ว่า ปัจจุบันสังคมไทยนำระบบทุนนิยมเข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบซึ่งระบบทุนนิยมนี้เองเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ที่เน้นวัตถุเป็นสำคัญ ดังนั้น ลักษณะการทำงานของคนในสังคมเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพในปัจจุบัน ที่ได้เน้นให้มีการจัดแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ คนจึงมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละคน (Division of labor) เช่น นายธนาคารต้องจบทางด้าน บัญชี เศรษฐศาสตร์ MBA เลขานุการต้องจบทางด้านบริหารธุรกิจ การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเป็นหน้าที่ของกรรมกร พนักงานขับรถประจำทางรับคนจบ ม.6 เป็นต้น จะเห็นได้ว่าตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีนั้นต้องการคนที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนั้นๆ ยกเว้นงานที่ไม่สูง(งานที่มีรายได้น้อย) ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องรายได้ แน่นอนที่สุดคนที่มีรายได้ไม่ดี ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะต้องไม่ดีตามมาอีกด้วย อีกทั้งทุกคนต่างเน้นผลประโยชน์เน้นวัตถุเป็นตัวตั้งสำคัญที่กำหนดการประสบความสำเร็จในชีวิตของคน ดังนั้น จึงทำให้บรรทัดฐานทางจริยธรรม วิชาชีพเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดข่าวการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง ข่าวการปราบมาเฟียในเครื่องแบบ(ทหาร ตำรวจ และข้าราชการบางส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง) จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะบรรทัดฐานในสังคม เปลี่ยนแปลงไปสิ่งที่ไม่ปกติสมัยก่อนกลับกลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมปัจจุบันยอมรับได้ นอกจากระบบทุนนิยมจะเน้นการแข่งขันกันทางด้านเศรษฐกิจแล้ว สิ่งนี้เป็นเหตุปัจจัยให้ทุกคนในสังคมมุ่งแต่แข่งขันกันในการสะสมวัตถุต่างๆ ผลที่ตามมาคือ คนในกรุงเทพจะไม่สนใจผู้อื่น สนใจแต่เรื่องของตนเอง(สอดคล้องกับ Weber) เรื่องไหนที่ไม่มีผลประโยชน์เข้าตนเองหรือไม่เกิดประโยชน์ ให้กับครอบครัวตนเองก็จะไม่สนใจ ยกตัวอย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรมในเมืองในอดีตหรือย่านชานเมืองกรุงเทพในปัจจุบันมีการจ้างงานกับแรงงาน แต่กลับไม่มีบ้านพักให้แรงงานจำนวนมาก แรงงานต้องจัดหาบ้านพัก เช่าบ้านใกล้แหล่งงาน เหตุนี้นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของย่าน ก่อให้เกิดสลัม ชุมชนแออัดใกล้แหล่งงาน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถามว่ามันเป็นเหตุเป็นผลหรือเปล่า มีใครแคร์ใครหรือไม่อย่างไร

    ตอบลบ
  11. กรุงเทพมหานครได้พัฒนาจากเมืองขนาดเล็ก ในรูปของเกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กลายมาเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปทุกทิศทุกทางภายในเวลาเพียง 40 ปี (ปี ค.ศ.1960-1990) รูปแบบการตั้งถิ่นฐานและการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นตามทิศทางที่ชี้นำด้วยระบบคมนาคมขนส่ง แบบแผนการขยายตัวของกรุงเทพมหานครเกิดจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่หลากหลายทั้งนี้ นอกจากอิทธิพลจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงข่ายคมนาคมแล้ว ความแออัดในบริเวณใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร การวางแผนด้านประชากรของรัฐ และการลดอัตราการตายของทารกจากการพัฒนาสาธารณสุข ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีอิทธิพลกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวในแถบชานเมือง
    การทำความเข้าใจแนวโน้มในการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครนี้จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยในระดับรากฐานของระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ แต่เดิม ในทศวรรษที่ 2490 ระบบเศรษฐกิจไทยมีลักษณะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมราชการ (Bureaucratic Capitalism) การพัฒนาประเทศตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ได้เปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เข้ามาเป็นผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงนี้ดำเนินไปพร้อมๆ กับการที่รัฐส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นของชาวไทยและชาวต่างประเทศซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการบ่มเพาะกิจการอุตสาหกรรมภายในประเทศ

    ตอบลบ
  12. วิถีทางในการพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐไทยเลือกใช้ คือ การพัฒนาแบบไม่สมดุลโดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม แม้ว่าผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม จะทำให้อัตราส่วนความยากจนของไทยตามเกณฑ์การวัดความยากจนสัมบูรณ์ (Absolute Poverty) ลดลด แต่การกระจายรายได้กลับมีความ เหลื่อมล้ำมากขึ้นโดยในปี 2543 กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนแบ่งรายได้สูงถึงร้อยละ 57.8 [ปราณี (2549), 4-34 และ 4-61) ดังนั้นถ้าพิจารณาในแง่การกระจายรายได้จะเห็นถึงความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างความเป็นจริงกับแนวคิดเรื่องผลของการไหลรินลงสู่เบื้องล่าง ทั้งยังก่อให้เกิด ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจได้กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
    จากภาพรวมในการขยายตัวของกรุงเทพมหานครข้างต้น เราอาจนำกระบวนการศึกษาทางสังคมวิทยามาใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจเพื่อให้เราสามารถเข้าใจกระบวนการขยายตัวของกรุงเทพฯ ได้ลึกซึ้ง และกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเราอาจจำแนกการวิเคราะห์ได้เป็น 3 แนวทางดังนี้
    1. กรุงเทพในฐานะที่เป็นพัฒนาการของระบบทุนนิยม ตามแนวคิดของ Marx เมืองมีฐานะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น อันจะเป็นทางที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมในอุดมคติ กล่าวคือ เมืองมีบทบาททางประวัติศาสตร์ ที่จะทำหน้าที่ในการเปลี่ยนผ่าน (แต่มิใช่สาเหตุที่แท้) จาก Feudal เข้าสู่ Modernism ทั้งนี้การขยายตัวของเมืองภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็เกิดจากแรงขับทางการผลิตซึ่งเป็นผลจากการครอบงำวิถีการผลิตของชนชั้นนายทุน อันเป็นกระบวนการทำงานของระบบทุนนิยม ก่อรูปเป็นปรากฏการณ์ การสะสมความมั่งคั่งในบริเวณเมืองและการล่มสลายของภาคการผลิตในชนบท ทั้งนี้เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยมนั้นจะสูบเอาทรัพยากรจากภาคเกษตรกรรม ก่อให้เกิดชนชั้นกรรมาชีพ และการกดขี่คนจน นอกจากนี้ การที่ภาคการผลิตในชนบทล่มสลายทำให้ประชาชนที่อาศัยในชนบทต้องอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในแหล่งงานซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ทำให้ระบบ feudal ต้องล่มสลายไปด้วยในที่สุด กระบวนการนี้จะนำไปสู่โอกาสในการต่อสู้ทางชนนั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในที่สุด
    ดังจะเห็นได้จากการที่ กรุงเทพมหานครขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 1-5 ในช่วงปี พ.ศ. 2504-2529 มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้กรุงเทพมหานครมีการเจริญเติบโตในลักษณะที่รวมศูนย์ความเจริญเข้าสู่ใจกลางเมือง ทั้งในแง่การกระจุกตัวของประชากร การกระจุกตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่างๆ และการกระจุกตัวของการจ้างงาน จากนั้น ภาคอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มที่จะอพยพออกจากใจกลางเมืองไปยังบริเวณชานเมืองและพื้นที่ปริมณฑล ทำให้กรุงเทพมหานครมีแนวโน้มที่จะขยายตัวโดยกระจายความเจริญออกไปสู่บริเวณชานเมืองและพื้นที่ปริมณฑล (Decentralization) ผลจากการขยายตัวที่ไม่สมดุลเช่นนี้ทำให้พื้นที่บริเวณชานเมืองขยายขอบเขตไปอย่างรวดเร็ว และการใช้ประโยชน์จากที่ดินในเขตชานเมืองเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดภาวะไร้สมดุลของที่ตั้งงานและที่อยู่ของประชากร (Jobs-Housing Imbalance)

    ตอบลบ
  13. 2. เมืองในฐานะที่เป็นแบบจำลองของข้อเท็จจริงทางสังคม การศึกษาสังคมตามแนวทางของ Weber ก็คือการศึกษาข้อเท็จจริงทางสังคมเพื่อค้นหาหลักเหตุ และผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองผ่านทางแบบจำลองเมือง โดยรากของแนวคิดนี้มาจากความเชื่อว่าในปัจเจกชน และความเชื่อในเหตุและผล ซึ่งก่อให้เกิดการท้าทายอำนาจของศาสนจักรในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยในปัจจุบันแนวคิดนี้ก่อรูปขึ้นอย่างช้าๆ ในประเทศไทย เนื่องจากอิทธิพลครอบงำทางด้านศาสนาซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย มีอิทธิพลอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด โดยจะเห็นได้จากการที่ศาสนาพุทธมีการปรับตัวเพื่อพยายามรักษาระดับในการมีส่วนร่วมในวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ มากกว่าช่วงที่ผ่านมา สังเกตได้จากการปรับตัวของพระสงฆ์รุ่นใหม่ๆ ที่พยายามนำหลักศาสนาพุทธมาตีความเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางโลก โดยเฉพาะปรากฏการณ์ในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ มากขึ้น
    3. เมืองในเชิงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคน กับคนเมือง การศึกษาเมืองตามแนวคิดของ Durkheim เป็นไปภายใต้กรอบการศึกษาสังคมเมืองในมิติของรูปแบบความสัมพันธ์ ระหว่างคนเมืองและสังคมเมืองว่ามีความสัมพันธ์อย่างไร ซึ่งการที่คนเข้ามากระจุกตัวในเมืองจะส่งผลให้ความหนาแน่นของประชากรในเมืองสูงกว่าในชนบท ในขณะที่การแบ่งงานกันทำจะก่อให้เกิดปัจเจกชน และทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ของประชาชนในเมืองลดระดับลงไปจากประชาชนในชนบท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางประชากรนี้เป็นเหตุให้ระบบ feudal ล่มสลาย และทำให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายในเมือง เกิดเป็นปัญหาสังคมในที่สุด กล่าวคือ รูปแบบของปัญหาสังคมมีรากที่พัฒนามาจากรูปแบบความสัมพันธ์ของคน และสังคมเมืองนั่นเอง คำถามสำคัญตามแนวทางการศึกษาสังคมเมืองของ Durkheim ก็คือ เราจะบริหารจัดการเมืองอย่างไร เพื่อให้คนเมืองซึ่งมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ให้สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสมานฉันท์

    ตอบลบ
  14. ธนัช สุขวิมลเสรี29 มิถุนายน 2553 เวลา 11:49

    Social Theory
    ธนัช สุขวิมลเสรี

    ทฤษฎีสังคมวิทยา
    Marx เสนอว่า สังคม คือ การมาอยู่ร่วมกันของคนด้วยเหตุผลทางวัตถุ ในกระบวนการแห่งประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลง สังคมที่ Marx อธิบายคือ สังคมทุนนิยมที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม และแบ่งพัฒนาการของสังคมมนุษย์ตามวิถีการผลิต (Mode of production) หรือตามระบบเศรษฐกิจ [1] ดังนี้
    แบบที่ 1 วิถีการผลิตแบบเอเชีย (Asiatic) มีคนในสังคมอยู่ 2 กลุ่มหลักคือ ประชาชนทั่วไป และกลุ่มคนที่มีอำนาจ (รัฐ) ซึ่งจะมีความขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่มนี้คือ ประชาชนเป็นผู้ถูกเอาเปรียบและรู้สึกไม่พอใจ เนื่องจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเอเชียไม่เหมือนกับของยุโรป มีสายการพัฒนาหลายสายตามขั้วของอารยธรรมต่างๆ Marx จึงเสนอว่า ฝ่ายที่ถูกกดขี่จึงไม่ใช่ไพร่หรือชาวนาติดที่ดินเหมือนในยุโรป แต่เป็นประชาชนทั่วไป และฝ่ายที่เป็นผู้กดขี่ประชาชน ก็คือ รัฐและชนชั้นผู้ปกครองโดยรวม
    แบบที่ 2 วิถีการผลิตแบบโบราณ (Ancient) คือ สังคมกรีก-โรมัน แบ่งความสัมพันธ์เป็น 2 พวก คือ เสรีชน (คนที่มีอำนาจ) กับ ทาส ดังนั้นพวกที่เป็นทาสจะต้องมีความขัดแย้ง ต้องพยายามต่อสู้เพื่อให้ตนเองได้อิสรภาพ
    แบบที่ 3 วิถีการผลิตแบบฟิวดัล (Feudal) คือ ยุโรปสมัยกลาง มีคู่ความสัมพันธ์คือ ขุนนาง (หรือพวก Land lord) กับชาวนา โดยชาวนาจะถูกเอาเปรียบ จึงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อโค่นล้มขุนนาง
    แบบที่ 4 วิถีการผลิตแบบทุนนิยม (Capitalism) มีคู่ความสัมพันธ์คือ นายจ้าง (นายทุน) กับลูกจ้าง (กรรมกร) ซึ่งมีความขัดแย้งกัน

    ตอบลบ
  15. ธนัช สุขวิมลเสรี29 มิถุนายน 2553 เวลา 11:51

    ในความคิดของ Marx ความเป็นจริงของสังคมเป็นตัวกำหนดสำนึกของบุคคล ไม่ใช่สำนึกของบุคคลมากำหนดความเป็นจริง ดังนั้นโครงสร้างส่วนล่างจึงเป็นตัวกำหนดโครงสร้างส่วนบน วัตถุเป็นตัวกำหนดค่านิยม อุดมการณ์ และสำนึก ชนชั้นแรงงานจะมีสำนึกได้ก็จากการที่ได้รับรู้สภาพความขัดแย้งและเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตทางวัตถุ ความขัดแย้งในสังคมทุนนิยม เกิดจากการที่ผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตมีอำนาจมากขึ้น ร่ำรวยมากขึ้น แต่คนจน (แรงงาน) ไม่มีรายได้เพิ่ม จนลง โดย Marx เรียกสังคมที่มีลักษณะขัดแย้งนี้ว่า สังคมปรปักษ์ (Antagonism)
    ในความสัมพันธ์ที่เป็นปรปักษ์และขัดแย้งกันนี้ Marx มองว่ารัฐมีบทบาทอยู่ด้วย แต่เป็นบทบาทเชิงลบ กล่าวคือ รัฐเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำหน้าที่ครอบงำชนชั้น โดยการที่ชนชั้นหนึ่ง (ชนชั้นนายทุน) ครองอำนาจในระบอบการปกครอง ชนชั้นนายทุนใช้รัฐและสถาบันในสังคมครอบงำชนชั้นแรงงาน เมื่อความขัดแย้งรุนแรงถึงที่สุด ชนชั้นแรงงานก็จะทำการปฏิวัติเพื่อล้มล้างรัฐที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือครอบงำนี้ รัฐที่ยอมให้นายทุนเข้าครอบงำ เป็นรัฐที่เสื่อมถอยหรือด้อยกำลัง

    ตอบลบ
  16. ธนัช สุขวิมลเสรี29 มิถุนายน 2553 เวลา 11:52

    Weber ให้ความสนใจในสิ่งที่เรียกว่า “การกระทำทางสังคม (Social action)” [3] มากกว่าสนใจสังคมโดยตรง Weber ให้ความหมายสังคม คือ ผลรวมของการกระทำทางสังคมของมนุษย์ และการกระทำทางสังคมของมนุษย์นั้น มีผลประโยชน์เป็นตัวกำหนด
    Weber เสนอว่า มนุษย์มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ตามแบบในอุดมคติ (Ideal type) [4] กล่าวคือ เกณฑ์/บรรทัดฐานของการกระทำที่เป็นแบบฉบับ โดย Weber ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับลักษณะของเมือง ไว้ว่า ชุมชนเมืองที่แท้จริงจะเป็นชุมชนที่มีรากฐานความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นหลัก และมีลักษณะประกอบคือ ป้อมปราการ ตลาด ศาลที่มีความเป็นอิสระ สมาคม การบริหารที่เป็นอิสระและชาวเมืองมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง [5] ดังนั้น ตัวแบบของ Weber จะมองเมืองในลักษณะที่เป็นระบบเศรษฐกิจการตลาดที่ผู้คนในเมืองต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงและสม่ำเสมอ มีรูปแบบการบริหารเฉพาะที่เป็นอิสระและสามารถป้องกันตนเอง เมืองในรูปแบบนี้สามารถประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์เมืองใดก็ได้ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ปัจจุบันหน้าที่หลายอย่างของเมืองกลายเป็นหน้าที่ของรัฐ ทั้งในด้านการบริหาร หรือการทหาร รูปแบบของความสัมพันธ์ แบบเดิมถูกแทนที่โดยระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ

    ตอบลบ
  17. ธนัช สุขวิมลเสรี29 มิถุนายน 2553 เวลา 11:53

    Durkheim ใช้คำว่า ความจริงทางสังคม (Social facts) อธิบายสังคม โดยระบุว่า ความจริงทางสังคมประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นโครงสร้าง (Structure) ได้แก่ กฎหมายและองค์กรบริหาร และส่วนที่เป็นพลัง (Force) ลำพังองค์กรบริหารและกฎหมายไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนสังคม แต่มีไว้ตรึงให้สังคมดำรงอยู่ สิ่งที่จะทำให้สังคมขับเคลื่อนประกอบด้วยศาสนาและวัฒนธรรม
    Durkheim เชื่อว่า การที่คนมาอยู่รวมกันมากขึ้น เรียกร้องให้มีการแบ่งงานกันทำที่ต้องการความชำนาญเฉพาะ (Specialization) ทำให้มีความหลากหลายในอาชีพต่างๆ ซึ่งแต่ละอาชีพต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) เหมือนอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ทำงานเฉพาะหน้าที่ของตนประสานกับส่วนอื่นๆ เพื่อความคงอยู่ของชีวิต Durkheim เรียกการทำงานดังกล่าวว่า Organic
    Durkheim ได้ให้ความเห็นถึงความแตกต่างกันระหว่างชนบทกับเมือง โดยในชนบทมีการจัดระเบียบสังคมเป็นลักษณะความเป็นปึกแผ่นเชิงกลไก (Mechanical solidarity) ส่วนในเมืองมีลักษณะความเป็นปึกแผ่นเชิงอินทรีย์ (Organic solidarity) [6]

    ตอบลบ
  18. ธนัช สุขวิมลเสรี29 มิถุนายน 2553 เวลา 11:56

    ในชนบทจะมีความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนสนิทแนบแน่น มีการแบ่งงานกันทำ (Division of labor) เป็นแบบง่าย โดยทุกคนทำงานเหมือนกันและแทนกันได้ สังคมมีขนาดเล็ก มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูง ความชำนาญเฉพาะอย่าง (Specialization) ไม่ปรากฏชัด ความผูกพันของคนอยู่บนรากฐานของความเชื่อทางศาสนาและประเพณี ซึ่งแสดงออกในสำนึกร่วมของคนในชุมชน (Collective consciousness)

    เอกสารอ้างอิง
    [1] สุภางค์ จันทวานิช, ทฤษฎีสังคมวิทยา, พิมพ์ครั้งที่ 3, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
    มหาวิทยาลัย, 2553.
    [2] Saunders, P, Social theory and the urban question, 2nd Ed., London: Unwin Hyman, 1986. (หน้า 24).
    [3] เรื่องเดียวกัน. (หน้า 29).
    [4] เรื่องเดียวกัน. (หน้า 31).
    [5] เรื่องเดียวกัน. (หน้า 35).
    [6] เรื่องเดียวกัน. (หน้า 48).

    ตอบลบ
  19. ระบบย่าน: ความสำคัญในฐานะผู้ผลิตซ้ำแรงานและวัฒนธรรมเมือง
    Yarn System: The important of urban-culture reproduction
    by Damrong

    บทความชิ้นนี้พยายามที่จะนำเข้าหรือประยุกต์แนวคิดของสำนัก Marxism, สำนัก Durkhiemism และสำนัก Weberism เข้ากับบทความ ย่านหรือระบบย่านในฐานะหน่วยพื้นที่ย่อยของเมืองหน่วยหนึ่ง (subunit of a city) ที่ทำหน้าที่ผลิตและออกแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมย่อยอันหนึ่งซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกับ subunit ของเมืองอีกพื้นที่หนึ่งก็ได้ การก่อรูปขึ้นเป็นระบบย่านเกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานและวัฒนธรรมจากต่างถิ่น ซึ่งอาจตีความได้ว่าประชากรเคลื่อนย้ายภายในเมืองหรือจากชนบทก็ได้ ในส่วนนี้หากได้ศึกษาลึกลงไปก็อาจจะใช้กรอบเวลาของพัฒนาการของเมืองเป็นตัวกำหนดสำคัญ บทความนี้จะกล่าวถึงหน่วยพื้นที่ย่อยช่วง Postmodern ที่เราสามารถเห็นได้ในปัจจุบัน ย้อนกลับไปดูแนวคิดของ Marx ที่กล่าวว่า สังคมสมัยโรม พึ่งพาการผลิตและสร้างความมั่งคั่งโดยพวกข้าทาสรับใช้ของพวกชนชนชั้นปกครองที่เป็นเจ้าของที่ดินทำการเกษตร (Marx, 1964 p 77 อ้างใน Saunder 1968 p 22 ) คำกล่าวนี้อาจะเทียบเคียงได้ว่า ย่านในสมัยนั้นก็คือพื้นที่ ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมโดยอาศัยทาสทำงานมีนายทุนคือเจ้าของที่ดินคอยบงการ/แบ่งงานให้ลูกจ้า (ทาส) เปรียบได้ในสมัยนี้ ย่านประกอบด้วยแรงงานที่ทำงานอยู่ในระบบเป็นลูกจ้างมีเจ้านายเป็นผู้บังคับบัญชาให้ผลิตสินค้าและบริการ การรวมกลุ่มของลูกจ้างก็ก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในเมืองที่หลอมรวมคนต่างวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน และ Marx กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมืองเข้าสู่ความสัมพันธ์กับเมืองอื่น เกิดการนำเข้าเครื่องมือใหม่ๆ ระหว่างกัน และการแยกกันระหว่างการผลิตและการค้าเกิดการแบ่งแยกใหม่ออกมาจากการผลิตระหว่างเมืองอุตสาหกรรม (Marx and Engle, 1970 p. 72 อ้างใน Saunder 1968 p.23) ซึ่งในปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลิตภายในย่านจะมีการแลกเปลี่ยนวัถตุดิบและเทคโนโลยีระหว่างกัน เช่นประเภทสิ้นค้า วัสดุการผลิต เกิดภาคการบริการด้านการขนส่งขึ้นมาอีก mode หนึ่ง
    Durkhiem กล่าวว่าผู้อยู่อาศัยในเมือง (urbanite) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน มีความชอบที่จะเป็นเป็นอิสระระหว่างกัน ผลทำให้เมืองขาดในสิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษ (Durkhiem, 1933 p. 72 อ้างใน Saunder 1968 p.48) สิ่งนี้อาจมีความเป็นได้ในกรณีที่ย่านหรือเมืองหลอมรวมวัฒนธรรมส่วนย่อยของคนต่างถิ่นที่อยู่รวมกันจนไม่เป็นความเป็นลักษณะพิเศษ ย่านในระบบนี้อาจจะพัฒนาเป็นย่านสมัยใหม่ที่มีระบบนิเวศน์ที่/ความสัมพันธ์ระดับบุคคลขาดออกจากกัน มีความเป็นอิสระสูงมาก ย่านแนวนี้มักจะประกฏให้เห็นโครงสร้างเศรษฐกิจและ

    ตอบลบ
  20. ...By Damrong p.2
    กายภาพในระดับ Global เช่น ย่านสีลม สาธร สุขุมวิท (นานา) เป็นต้น Durkhiem ยังกล่าวต่อไปว่า ลักษณะการรวมกลุ่มของมนุษย์เกิดมาจากชนชั้นแรงงานที่แตกต่างกันซึ่งแสดงออกถึงการแบ่งส่วนของประชากรในพื้นที่ (Durkhiem, 1933 pp. 189-90 อ้างใน Saunder 1968 p.49) ซึ่งเป็นที่แน่ชัดและพิสูจน์ได้แล้วว่ากลุ่มชนเดียวกันก็จะรวมกลุ่มเข้าด้วย เช่นกลุ่มแรงาน/สหภาพแรงงานต่างๆ เพื่อต่อรองผลประโยชน์ในกลุ่ม ในระบบย่านเราจะมักพบเห็นถึงการรวมกลุ่มในระดับชนชนชั้นกลางในฐานะผู้เป็นเจ้าของกิจการเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับรัฐบาลหรือต่างชาติมากกว่า
    สำหรับทัศนะของ Weber ในเรื่องความสัมพันธ์ของคนเมือง เขากล่าวว่าความสัมพันธ์ระดับบุคคลไม่ได้ก่อให้เกิดเป็นระบบเครือญาติหรือเผ่าพันธุ์ ในการสมาคมของท้องที่เมืองเป็นสิ่งที่แสดงถึงความมั่นคงในตำแหน่งอาชีพที่เป็นทางการ (ทางกฏหมาย) ของปัจเฉกบุคคลของชาวเมือง (Weber, 1918 p. 102 อ้างใน Saunder 1968 p.36) คำกล่าวนี้ดูแล้วถูกต้องเป็นอย่างยิ่งเพราะเราจะเห็นว่าความสัมพันธ์ของชาวเมืองหาได้เป็นของแบบเครือญาติไม่ เป็นเพียงความสัมพันธ์ในหน้าที่ การงาน ตำแหน่งทางการเท่านั้น ดังนั้น ระบบย่านของกรุงเทพจึงกล่าวได้ว่า แนวคิดของสำนัก Marxism, สำนัก Durkhiemism และสำนัก Weberism ค่อนข้างจะอธิบายถึงระบบย่านในแง่ของการผลิตซ้ำของแรงงานและวัฒนธรรมที่ต่างคน ต่างกลุ่มผูกมัดอัตลักษณ์เองด้วยกันแบบเปราะบางเพียงเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตสังคมเมืองที่ความซับซ้อนและหลากลายได้ระดับหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมเมืองระดับย่านมีการสร้างกลุ่มเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของการผลิตภาคแรงงานและวัฒนธรรมถึงแม้ว่ามันจะเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ (informal) เสียมากกว่าและต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย

    ตอบลบ
  21. ศศิธร กล่าวว่า
    ในช่วงศตวรรษที่ 18 นักปรัชญาธรรมชาติได้เสนอแนวคิดเกี่ยวความรู้และวิธีการแสวงหาความรู้ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ปรัชญาวิทยาศาสตร์(The philosophy of sciences) ถือว่าเป็นการวางรากฐานกระบวนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับความรู้และวิธีการแสวงหาความรู้แบบใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ใช้แทนกระบวนทัศน์ที่นักปรัชญาเมธีโบราณใช้กันอยู่เดิม โดยเป็นสังคมวิทยาว่าเป็นศาสตร์แห่งสังคม science ที่เข้าใจในแบบวิทยาศาสตร์ โดยมีพัฒนาการของแนวคิดทางการวิจัยมาอย่างต่อเนื่องจากสมัยโบราณมาจวบจนถึงปัจจุบัน นักวิจัยได้จำแนกยุคสมัยของการวิจัยออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคปรัชญาบริสุทธิ์ ยุควิทยาศาสตร์ ยุคมนุษยศาสตร์และยุคสังคมศาสตร์ที่ใหม่ที่สุดในปัจจุบัน
    รากเหง้าของนักสังคมวิทยาที่ยิ่งใหญ่ Marx Weber และ Durkheim ตามที่ Athony Giddens ตั้งไว้ใน Capitalism and Modern Social Theory (Cambridge)
    จากการเปลี่ยนแปลงในสังคมในการทำให้เป็นอุตสาหกรรมเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมและกำเนิดของทุนนิยม (The Industrial Revolution and the Rise of Capitalism) ในศตวรรษที่ 19 – 20 การปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้แปรเปลี่ยนซีกโลกตะวันตกจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มรูปแบบ เกิดเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นระบบทุนนิยม ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี การค้า จน เกิดการเอาเปรียบทางชนชั้นขึ้น จึงทำให้มีการประท้วงและจัดตั้งเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ต่อสู้กับลัทธินายทุนเพื่อล้มล้างระบบนี้ การต่อต้านทุนนิยมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมตะวันตก ซึ่งสะท้อนต่อจิตใจของนักสังคมวิทยาในสมัยนั้นอย่างมาก บุคคลสำคัญ 4 ท่านที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ได้แก่ Karl Marx, Emile Durkheim, Max Weber ในการสร้างทฤษฎีต่างๆ อันเป็นรากเหง้าของสังคมวิทยาที่ยิ่งใหญ่ตามมามากมาย จากสถานการณ์เหล่านี้ โดยที่ทุกคนเห็นว่าสังคมเคลื่อนไหวในทิศทางที่ไม่เหมาะสมกับคนในสังคมในขณะนั้นเลย
    พวกหัวรุนแรง คาร์ล มาร์ก (Karl Marx : 1818 – 1883) พัฒนาการทางสังคมวิทยาในประเทศเยอรมัน
    Karl Marx สนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม โดยเน้นความรุนแรง Marx ต้องการความเปลี่ยนแปลงต้องการการปฏิวัติ Marx เห็นว่านายทุนเป็นขี้เกียจและเผด็จการ สร้างทฤษฎีที่ชื่อว่า “วัตถุนิยมวิภาษณ์วิธี” (Dialectic Materialism) ลักธิวัตถุนิยมให้ความสนใจต่อระบบเศรษฐกิจ มีนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สนใจเรื่องนี้ คือ Adam Smith and David Ricardo มีความเชื่อว่า แรงงานเป็นที่มาของทรัพย์ ทำให้มาร์กเสนอโต้แย้งว่า ผลกำไรของนายทุนมาจากการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน โดยจ่ายค่าจ้างที่น้อยกว่าที่ควรจะได้ แล้วเอาส่วนต่างค่าจ้างเหล่านี้ไปลงทุนผลิตเพิ่มอีก เรียกว่า “มูลค่าส่วนเกิน” (Surplus Value) แม้มาร์กและผู้สนับสนุน เขาจะมีชื่อเสียงในด้านทฤษฎีที่นำไปใช้ก็ตาม แต่มาร์กก็ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของสังคมวิทยาเยอรมัน ผู้ที่สร้างสังคมวิทยาในเยอรมันอย่างมั่นคง ได้แก่ แมกซ์ เวเบอร์, เวเบอร์ไม่ค่อยเห็นกับมาร์กนัก โดยกล่าวว่า มาร์กคิดแง่เดียว คือ เศรษฐกิจ โดยไม่ใส่ใจวิถีทางสังคมลย

    ตอบลบ
  22. พวกประนีประนอม Max Weber แมกซ์ เวเบอร์ : (1864-1920)
    Max Weber สร้างทฤษฎีภาวะผู้นำแบบมีบารมี (Charismatic Leadership) โยเขาสนใจระบบความคิดและผลกระทบจากความคิดในด้านเศรษฐกิจ ความคิดมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระบบความคิดทางศาสนา ผลจากศาสนาต่อสถาบันเศรษฐกิจ เวเบอร์ยังมองเรื่องการแบ่งชนชั้นทางสังคม (Social Stratification) ไม่ได้แบ่งด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่แบ่งด้วยเกียรติ (สถานภาพ) และอำนาจงานของเวเบอร์โดยพื้นฐานเป็นทฤษฎีของกระบวนการสร้างเหตุผล (The Process of Rationalization) ใช้ความมีเหตุผล (Rationality) ได้แก่การมีเหตุผล การเลือกต้องใช้กฎสากลมาจากโครงสร้างขนาดใหญ่จากองค์กร (bureaucracy) และระบบเศรษฐกิจ ศึกษาจากประวัติศาสตร์ของชาติอื่น ได้แก่ จีน, อินเดีย เสนอความเป็น แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ระบบอำนาจประเพณี ระบบบารมี และระบบกฎหมาย
    Emile Durkheim(1858-1917)มุมมองและแนวคิดของ Durkheim จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ข้อเท็จจริงทางสังคม”(social fact) ซึ่งเป็นสาระของสังคมวิทยา โดยเป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะไม่เหมือนกับลักษณะของแต่ละสิ่งที่เป็นองค์ประกอบ โดยอยู่ภายนอกตัวปัจเจกบุคคลและปรากฏอยู่ตราบนานเท่านาน แม้ปัจเจกบุคคลคนใดคนหนึ่งจะล้มหายตายจากไปและมีปัจเจกบุคคลอื่นมาแทน Durkheim ได้อธิบายว่าสังคมเป็นระบบทางสังคม(social system) ซึ่งถูกผูกพันธนาการร่วมกันของการบูรณาการเชิงหน้าที่(functional integration)ระหว่างส่วนประกอบต่างๆของสังคมเขาได้ศึกษาสังคมภายใต้ทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ เขาเชื่อว่า การศึกษาแบบสังคมวิทยาต้องเป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น ความคิดนี้มีมาถึงปัจจุบัน
    Max Weber กับ Emile Durkheim คัดค้านแนวความคิดปฏิรูปของมาร์ก เพราะต้องการการปฏิรูปมากกว่าการปฏิวัติทางสังคม จึงเสนอทางออกแนวใหม่ที่ไม่นิยมความรุนแรงอย่างแนวความคิดของ Marx แต่ Weber กลับพยายามรวบรวมค้นหาเหตุผลที่จะพัฒนาทุนนิยมให้เกิดการแก้ปัญหาขึ้น Weber เห็นภาพที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจาก Marx โดยเขาตั้งเป็นจริยธรรมการทำงานของโปรเตสแตนต์ “The Protestant Work Ethic.”โดยมีความเชื่อว่าในขณะที่โชคชะตาตั้งไว้พระเจ้า และต้องขยันในการทำงานด้วย

    ตอบลบ
  23. นักคิดทางสังคม Weber สนใจศึกษาถึงความเป็นเมือง (Urbanization) เพราะผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชาชนจึงย้ายจากชนบทเข้าสู่เมือง เพื่อหางานทำในโรงงานอุตสาหกรรมตามเมืองใหญ่ ๆ เป็นให้เกิดชีวิตในเมืองขึ้น ลักษณะของชีวิตในลังคมเมืองและปัญหาของคนในเมือง จึงได้ดึงดูดนักสังคมวิทยาหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง และนักสังคมวิทยาแบบ Weber มองศาสนาว่าแบบหาความเป็นสากล ศาสนา (สังคมวิทยา) ภายในพื้นที่และเวลาของวัฒนธรรมต่างๆ สนใจถึงบทบาทของศาสนา ถึงกับทำการศึกษาเป็นบทความเกี่ยวกับศาสนาของโลก
    นักทฤษฎีDurkheim สนใจบทบาทของศาสนาต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากการเปลี่ยนสังคม โดยการปฏิวัติทางการเมือง อุตสาหกรรม และความเป็นเมือง ได้มีผลกระทบถึงศาสนา จนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านศาสนา (Religious Change) จนเขียนสังคมวิทยาศาสนาไว้ ได้แก่ กฎศีลธรรม จริยธรรม ที่มีบทบาทต่อสังคมจากอดีตถึงปัจจุบัน Durkheim ยังให้ความสนใจวิทยาศาสตร์ด้านสังคมอย่างมากจนมีการนำวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) มาศึกษาทางสังคม สร้างเป็นทางทฤษฎีสังคมวิทยา
    เมืองในระยะเริ่มต้นนั้นมีขนาดไม่ใหญ่เท่าไหร่นัก ทั้งในแง่ของประชากร หรือพื้นที่ หรือที่ดินที่ถูกเมืองครอบครอง นักสังคมวิทยาเมืองรุ่นแรกๆ คือ Durkheim (1893) การพัฒนารูปแบบการอยู่อาศัยขึ้นเป็นเมือง มาจากการที่ประชากรที่มีมากขึ้น และพัฒนาลักษณะเฉพาะของการใช้แรงงาน และการเพิ่มขึ้นของประชากรก็มีความต้องการการผลิตอาหารมากยิ่งขึ้นจึงมีการพัฒนาการด้านการเกษตร จนเกิดการสะสมอาหาร พัฒนาการทางการเกษตรขนาดใหญ่จึงทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรทางสังคมเกิดขึ้นในพื้นที่ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นเมือง จากการเพิ่มประชากรเกิดการพัฒนาการผลิตแต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความขาดแคลนขึ้นด้วย เพราะไม่สามารถเข้าถึงอาหารหรือแหล่งของอาหารได้ จึงเกิดการเพิ่มมูลค่าของสินค้าหายากและเกิดการเพิ่มมูลค่าของการบริการต่างๆ การเกิดขึ้นมาเป็นสังคมเมืองนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน เพราะมีรายละเอียดของการแบ่งชนชั้นขึ้นในสังคมเมืองที่แตกต่างกันและมากกว่าแต่สังคมเดิม มีการแบ่งช่วงชั้นทางสังคมเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมาก และกลุ่มที่มีอำนาจน้อย ในการถือครองทรัพย์สิน การเปลี่ยนแปลงชีวิตมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีความแตกต่างกันระหว่างชนชั้นเกิดขึ้น

    ตอบลบ
  24. ในส่วนการปรับใช้ส่วนของงานวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องการระบายลมกับพื้นที่เมืองนั้น จะใช้ระเบียบวิธีคิดโดยทบทวนทฤษฎีแนวคิดของ “การจัดระเบียบ/องค์กรทางสังคม”หลักใหญ่คือการสร้างอาคารในเมืองที่สร้างกันแบบการขาดการมองในภาพรวมถึงผลได้ผลเสียทั้งในด้านความเหมาะสมต่อสภาพกายภาพดินฟ้าอากาศ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การขาดการวางแผนรองรับที่ดี ให้อาคารที่ปลูกสร้างในเมือง มีขนาด ส่วนสูง ทิศแนวทางการวางอาคาร รวมทั้งที่ว่าง ท้องถนน แหล่งน้ำคูคลองให้เหมาะสมกับอากาศแบบประเทศไทย โดยอาจการสร้างอาคารที่บดบังลมแก่อาคารที่อยู่ด้านใต้ลม การศึกษานี้จึงน่าจะต้องมีหน้าที่ ที่จะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างระเบียบทางสังคมและโครงสร้างทางสังคม เป็นส่วนประกอบของ “การจัดระเบียบ/องค์กรทางสังคม” เข้ามาจัดการให้คนทุกคนในเมืองมีสิทธิที่จะได้รับลม เข้าถึงลมได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยอาจมีเครื่องมือต่างๆที่ช่วยในการ “จัดระเบียบ” สังคมในนามของบรรทัดฐานทางสังคม (social norms) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับ ควบคุมสมาชิกในสังคมได้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อกัน ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถานภาพ (status) และบทบาท (role) ตลอดทั้งการจัดช่วงชั้นทางสังคม (social stratification) ในการมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงลม ได้ใช้ลมอย่างทัดเทียมกัน การแบ่งปัน ควบคุมการใช้ในฐานะต้นลมกับท้ายลมโดยใช้การจัดระเบียบทางสังคมมีจุดเน้นแตกต่างกันและมีจุดร่วมบางประการเหมือนกัน ดัง คือการทำให้เกิดความมีระเบียบ ในสังคมมนุษย์ เมื่อสังคมมีระเบียบ สังคมก็จะมีความสงบมั่นคงถาวร และสมาชิกของสังคมสามารถดำเนินชีวิตของตนไปได้อย่างมีสุขอนามัยที่ดี ทุกสังคมจึงต้องมีการจัดระเบียบทางสังคมถ้าไม่มีระเบียบทางสังคม สังคมมนุษย์ไม่สามารถจะคงสภาพอยู่ได้ ทุกสังคมจะมีการจัดระเบียบทางสังคมในหลักการนี้หากพิจารณาร่วมกับนิยามของ Herbert Spencer ผู้ซึ่งได้อุปมาว่า “สังคมเป็นสิ่งมีชีวิต”(society was an organism)ที่มีความเป็นพลวัตร รวมทั้งลมธรรมชาติยังเป็นปัจจัยที่วูบไหวไม่แน่นอน อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาร่วมกับ “บรรทัดฐานทางสังคม” โดยแบ่งประเภทของบรรทัดฐานออก 3 ประเภทใหญ่ๆคือ วิถีประชา (Folkway) จารีต(Mores)และกฎหมาย(Laws) ซึ่งบรรทัดฐานเหล่านี้ต่างถูกใช้เป็นเครื่องมือกำหนดแบบแผนพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมในระดับต่างๆ ทั้งยังมีระดับในควบคุม/บังคับในการเข้าถึงลมที่แตกต่างกันไปด้วย

    ตอบลบ
  25. น.ส.สุพินดา ตั้งรุ่งเรืองอยู่

    1. Social Theory, capitalism and the urban question
    Marx and Engels / Max Weber / Emile Durkheim

    1.1 Marx and Engels : the town, the country and the capitalist mode of production
    ทฤษฎีทางสังคมวิทยาของมาร์ก เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงลบ ที่ขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มใน
    สังคม โดยจะเน้นเรื่องของ วัตถุ หรือที่เรียกว่า “วัตถุนิยมวิภาษวิธี”(dialectical materialism) คือ การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงวัตถุ (Peter Saundes 1986: 16)
    การเกิดการปฎิเสธของการปฎิเสธ เรียกว่า การปฎิบัติการล้มล้าง ที่มีสิ่งใหม่เกิดแทนที่สิ่งเก่า
    ลักษณะของสังคมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1)โครงสร้างส่วนบน อาทิ ความคิด ปรัชญา ค่านิยม กฎหมาย และ 2)โครงสร้างส่วนล่าง คือ การผลิต โดยความสัมพันธ์ทางกานผลิตกับความสัมพันธ์ทางสัคม ประกอบด้วย ปัจจัยการผลิต(ทุน กับ ที่ดิน) และ พลังการผลิต(แรงงาน)
    การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิด เมื่อนายทุน เกิดความขัดแย้งกับแรงงาน เกิดการปฎิวัติสู่สังคมนิยม
    แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคมตามแนวคิดของมาร์ก ประกอบด้วย 3 แนวคิด คือ ภาวะแปลกแยก(alienation) ภาวะหลงใหลบูชาสิ่งที่ตนสร้างขึ้น(reification) จิตสำนึกทางชนชั้น(class consciousness)
    Capitalism : เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดเมือง โดยมีผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อเมือง ซึ่ง Marx and
    Engels, it is capitalism rather than urbanism และเชื่อว่า context of modern capitalism, the urban is a common-sense category with no scientific status.(Peter Saundes 1986: 28)
    1.2 Max Weber : the city and the growth of rationality
    การกระทำของสังคม(social action) คือ ผลรวมของการกระทำทางสังคมของมนุษย์ โดยมีผลประโยชน์เป็นตัวกำหนด
    Max Weber : พยายามให้คำจำกัดความของ สังคมนิยม โดยมีจัดมุ่งหมายเพื่อ การสร้างตัวแบบในลักษณะอุดมคติ(ideal type) ลักษณะของนครต้องประกอบด้วย ชุมชนเมืองที่มีรากฐานความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นหลัก ประกอบด้วย ป้อมปราการ ตลาด ศาล สมาคม(พื้นฐานการจัดระเบียบองค์การที่เป็นของนคร) และการบริหารที่เป็นอิสระ โดยนครต้องมีส่วนของการเมืองแยกตัวออกจากส่วนเศรษฐกิจ (Peter Saundes 1986: 32)
    Max Weber : มองนครในลักษณะที่เป็นระบบเศรษฐกิจการตลาด(market economy) ที่ผู้คนในนครต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงและสม่ำเสมอ ปัจจุบันหน้าที่หลายๆ อย่างของนครกลายเป็นหน้าที่ของรัฐ(ทหาร ตำรวจ และการบริหาร) รูปแบบความสัมพันธ์แบบเดิมถูกแทนที่ด้วยระบบราชการ(bureaucracy) (Peter Saundes 1986: 28-51)
    ศาสนา เป็นพลังของระบบเก่า(ฟิวดัล) แต่ลักษณะเด่นของทุนนิยม จะใช้หลักเหตุผลในการแข่งขันของพลังของตลาด(ต้นทุน กำไร) แม้แต่คำสอนของนิกายโปรเตสแตนต์ ให้ค่านิยมทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมสูงมาก(ยิ่งสะสมทุนมาก ยิ่งเกิดความแข็งแกร่งของระบบทุนนิยม) ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจต่อการทำงานหนัก(productive work) เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวของเทคโนโลยีและการผลติแบบสมัยใหม่ที่ผูกพันกับการปฎิวัติอุตสาหกรรม

    1.3 Emile Durkheim : the city, the division of labour and the moral basis of community
    องค์ประกอบในสังคมประกอบด้วย 3 ส่วน คือ โครงสร้าง(structures) พลัง(forces) และสำนึกร่วม
    (collective consciousness) โดยความสัมพันธ์ทางสังคม แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ
    1) ความสัมพันธ์ทางสังคม ในแง่ความเป็นปึกแผ่น(solidarity) ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 2
    รูปแบบคือ 1.1)สังคมที่มีความสัมพันธ์ที่ทำให้เป็นปึกแผ่น เชิงกลไก(mechanical solidarity) ความเหมือนๆ กัน ทั้ง ค่านิยม ความเชื่อ เช่น การลงแขก และ 1.2)สังคมที่มีความสัมพันธ์ที่ทำให้เป็นปึกแผ่น เชิงอินทรีย์(organic solidarity) ส่วนย่อยต่างๆ หรืออวัยวะภายในสังคม ทำหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะ
    2) ความสัมพันธ์ทางสังคม ในแง่กฎระเบียบของสังคมกับปัจเจกบุคคล
    ดูร์ไคม์มีข้อสังเกตว่า สังคมสมัยใหม่เปลี่ยนจาก สังคมที่มีความสัมพันธ์ที่ทำให้เป็นปึกแผ่น เชิงกลไก เป็น เชิงอินทรีย์ มากขึ้น เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ ถ้าสมาชิกเกิดความสับสนไม่สามารถบูรณาการตนเองเข้าสู่ความเป็นปึกแผ่นของสังคมได้ก็จะเกิด พฤติกรรมรุนแรง เช่น การฆ่าตัวตาย / การฆ่าตัวตาย จึง สัมพันธ์กับระดับบูรณาการของบุคคลในสังคม เป็นความสัมพันธ์แบบผกผัน (สุภางค์ จันทวานิช. 2552 : 37-49)
    สังคมนครเป็นสังคมที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มคนและชั้นสังคม การจัดระเบียบทางสังคมเป็นการ
    จัดฐานะตำแหน่งที่ไม่เท่าเทียมลดหลั่นกันลงมา(hierarchical society) สังคมประกอบด้วย ผู้ครองนคร พระ ปราชญ์ ทหาร สามัญชน ไพร่ และทาส ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกการเกิดนคร

    ตอบลบ
  26. สุพินดา

    Social Theory and the Urban Question
    Peter Saundes

    1. Social Theory, capitalism and the urban question
    Marx and Engels / Max Weber / Emile Durkheim

    1.1 Marx and Engels : the town, the country and the capitalist mode of production
    ทฤษฎีทางสังคมวิทยาของมาร์ก เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงลบ ที่ขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มใน
    สังคม โดยจะเน้นเรื่องของ วัตถุ หรือที่เรียกว่า “วัตถุนิยมวิภาษวิธี”(dialectical materialism) คือ การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงวัตถุ (Peter Saundes 1986: 16)
    การเกิดการปฎิเสธของการปฎิเสธ เรียกว่า การปฎิบัติการล้มล้าง ที่มีสิ่งใหม่เกิดแทนที่สิ่งเก่า
    ลักษณะของสังคมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1)โครงสร้างส่วนบน อาทิ ความคิด ปรัชญา ค่านิยม กฎหมาย และ 2)โครงสร้างส่วนล่าง คือ การผลิต โดยความสัมพันธ์ทางกานผลิตกับความสัมพันธ์ทางสัคม ประกอบด้วย ปัจจัยการผลิต(ทุน กับ ที่ดิน) และ พลังการผลิต(แรงงาน)
    การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิด เมื่อนายทุน เกิดความขัดแย้งกับแรงงาน เกิดการปฎิวัติสู่สังคมนิยม
    แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคมตามแนวคิดของมาร์ก ประกอบด้วย 3 แนวคิด คือ ภาวะแปลกแยก(alienation) ภาวะหลงใหลบูชาสิ่งที่ตนสร้างขึ้น(reification) จิตสำนึกทางชนชั้น(class consciousness)
    Capitalism : เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดเมือง โดยมีผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อเมือง ซึ่ง Marx and
    Engels, it is capitalism rather than urbanism และเชื่อว่า context of modern capitalism, the urban is a common-sense category with no scientific status.(Peter Saundes 1986: 28)
    1.2 Max Weber : the city and the growth of rationality
    การกระทำของสังคม(social action) คือ ผลรวมของการกระทำทางสังคมของมนุษย์ โดยมีผลประโยชน์เป็นตัวกำหนด
    Max Weber : พยายามให้คำจำกัดความของ สังคมนิยม โดยมีจัดมุ่งหมายเพื่อ การสร้างตัวแบบในลักษณะอุดมคติ(ideal type) ลักษณะของนครต้องประกอบด้วย ชุมชนเมืองที่มีรากฐานความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นหลัก ประกอบด้วย ป้อมปราการ ตลาด ศาล สมาคม(พื้นฐานการจัดระเบียบองค์การที่เป็นของนคร) และการบริหารที่เป็นอิสระ โดยนครต้องมีส่วนของการเมืองแยกตัวออกจากส่วนเศรษฐกิจ (Peter Saundes 1986: 32)
    Max Weber : มองนครในลักษณะที่เป็นระบบเศรษฐกิจการตลาด(market economy) ที่ผู้คนในนครต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงและสม่ำเสมอ ปัจจุบันหน้าที่หลายๆ อย่างของนครกลายเป็นหน้าที่ของรัฐ(ทหาร ตำรวจ และการบริหาร) รูปแบบความสัมพันธ์แบบเดิมถูกแทนที่ด้วยระบบราชการ(bureaucracy) (Peter Saundes 1986: 28-51)
    ศาสนา เป็นพลังของระบบเก่า(ฟิวดัล) แต่ลักษณะเด่นของทุนนิยม จะใช้หลักเหตุผลในการแข่งขันของพลังของตลาด(ต้นทุน กำไร) แม้แต่คำสอนของนิกายโปรเตสแตนต์ ให้ค่านิยมทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมสูงมาก(ยิ่งสะสมทุนมาก ยิ่งเกิดความแข็งแกร่งของระบบทุนนิยม) ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจต่อการทำงานหนัก(productive work) เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวของเทคโนโลยีและการผลติแบบสมัยใหม่ที่ผูกพันกับการปฎิวัติอุตสาหกรรม

    1.3 Emile Durkheim : the city, the division of labour and the moral basis of community
    องค์ประกอบในสังคมประกอบด้วย 3 ส่วน คือ โครงสร้าง(structures) พลัง(forces) และสำนึกร่วม
    (collective consciousness) โดยความสัมพันธ์ทางสังคม แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

    ตอบลบ