วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เขียนบทสะท้อนทางความคิดต่อบทความ

ให้นิสิตเขียนบทสะท้อนทางความคิดต่อบทความเรื่อง "การจัดการพื้นที่เมือง เื่พื่อสร้าง พื้นที่ประเทศไทย ทศวรรษ 2500" (สามารถ download บทความได้จาก link ของอ.พิชญ์)
ให้ส่งทั้งใน blog นี้ และ print out เพื่อส่งให้อ.พิชญ์ในชั้นเรียน

23 ความคิดเห็น:

  1. ชูชาติ 1

    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่เมืองในเชิงกายภาพทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและภูมิภาค มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเปิดรับทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมไปถึงการขยายตัวของตลาดแรงงานที่มีฝีมือโดยเฉพาะสถาปนิกและวิศวกร โดยจะเห็นได้จากการขยายตัวของอาคารซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่จำนวนมากทั้งอาคารที่เป็นของรัฐและเอกชนซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแพร่กระจายทั่วประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษ 2500 ซึ่งการพัฒนารัฐไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคมโลกในแต่ละช่วง
    การขยายตัวของพื้นที่เมืองดังกล่าว เกิดขึ้นควบคู่กับการที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการจัดการพื้นที่เมืองผ่านเครื่องมือทางนโยบายเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างความเป็นเอกภาพของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยและสังคมไทยอย่างมากในปัจจุบัน ในกระบวนการสร้างเอกภาพของพื้นที่เมือง และความเป็นไทยนั้นประกอบด้วยมิติหลักคือ มิติของการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย และมิติของการฟื้นฟูกรอบวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยม ผ่านการเปลี่ยนแปลงและการจัดการพื้นที่เมืองทั้งในเชิงกายภาย และพื้นที่ในเชิงความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับคนไทย
    ในช่วงต้นของพุทธศตวรรษ 2500 รัฐไทยพยายามที่จะสร้างเอกภาพของพื้นที่เมืองโดยสนับสนุนให้เกิดการสร้างพื้นที่ในเชิงกายภาพ ควบคู่กับการสร้างสัญลักษณ์ ทำให้เกิดการโอนย้ายทรัพยากรจำนวนมากเพื่อสร้างพื้นที่กายภาพในเมือง และโครงข่ายสาธารณูปโภคให้สามารถเชื่อมโยงท้องถิ่นกับพื้นที่ส่วนกลาง โดยมีข้าราชการปกครองในท้องถิ่นเป็นตัวแทนในการโยกย้ายทรัพยากรในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ซึ่งนัยหนึ่งเป็นการปรับปรุงซ่อมแซมพื้นที่ในบริเวณที่เป็นยุทธศาสตร์ของท้องถิ่นเพื่อการส่งผ่านบริการของรัฐผ่านทางหน่วยงานปกครองในท้องถิ่น ส่วนอีกนัยหนึ่งเป็นการสร้างสัญลักษณ์เชิงอำนาจว่ารัฐเป็นศูนย์กลาง และประชาชนมีความจำเป็นต้องพึ่งพารัฐในการดำรงชีวิต ทั้งยังส่งผลให้การเติบโตของพื้นที่เมืองเป็นไปตามลักษณะส่วนบุคคลของข้าราชการในท้องถิ่น และยังส่งผลให้การพัฒนาเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากข้าราชการเหล่านี้มีโอกาสจะถูกโยกย้ายได้ง่าย
    นอกจากการพัฒนาในเชิงปริมาณแล้ว รัฐไทยยังพยายามครอบงำพื้นที่ชนบทของประเทศผ่านทางเครื่องมือกฏหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตราพระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นกฏหมายที่มีเจตนารมย์ในการแทรกพื้นที่เมืองในพื้นที่ชนบท ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในภูมิภาค และพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฏหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฏหมายที่ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากระบอบศักดินาอย่างเด็ดขาด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากฏหมาย 2 ฉบับนี้ เป็นตัวเร่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่นำไปสู่การพัฒนา และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เมืองทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ยุทธศาสตร์ในแต่ละภูมิภาค

    ตอบลบ
  2. ชูชาติ 2

    ในการจัดการพื้นที่เมืองของไทยในช่วงพุทธศตวรรษ 2500 นั้น อาจกล่าวได้ว่ารัฐไทยมีความสับสนในทางนโยบายอย่างยิ่ง โดยพิจารณาได้จากการการตราพระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495 อันมีลักษณะเป็นการวางผังเมือง และผังชนบทแบบอังกฤษ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการบริหารประเทศในอดีต จากนั้นก็มีการปรับแนวคิดการบริหารพื้นที่เมืองให้เป็นการวางแผนภาคและเมืองแบบอเมริกัน ควบคู่กับการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศผ่านทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยรัฐไทยได้เปิดรับแนวคิดการวางแผนเมืองจากประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านทาง USOM และได้มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางผังเมือง เพื่อจัดทำโครงการศึกษาและวางแผนเทศบาลกรุงเทพ และเทศบาลธนบุรี (Greater Bangkok Plan 2533) อันเป็นที่มาของผังลิทช์ฟิลด์
    แนวทางในการจัดการพื้นที่เมืองของรัฐไทยในช่วงครึ่งต้นของพุทธศตวรรษ 2500 มีลักษณะเป็นการรวมศูนย์อำนาจของการวางผังเมืองให้เข้าสู่ส่วนกลางซึ่งมีความสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจสังคมในขณะนั้น ทั้งยังมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานและบุคคลากรที่เกี่ยวกับผังเมือง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการวางผังเมืองโดยรวมของประเทศ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เด่นชัดก็คือมีการการสำรวจ การวางผังเมืองรวม และการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของภูมิภาค โดยพื้นที่ยุทธศาสตร์เหล่านี้จะถูกเชื่อมโยงกับพื้นที่ส่วนกลางคือกรุงเทพมหานคร
    นอกจากนี้ การพัฒนาพื้นที่เมืองทางกายภาพในประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งในระยะแรกเน้นการพัฒนารวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง และต่อมาได้มีความพยายามกระจายการพัฒนาไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยการพัฒนาภูมิภาคนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้เร่งให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เชิงกายภาพอย่างเร่งรีบ เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐและการคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ในแต่ละภูมิภาค
    อย่างไรก็ตามในการจัดการพื้นที่เมืองของไทยนั้นก็มิได้รับเอาแนวคิดการวางแผนเมืองจากประเทศสหรัฐอเมริกามาทั้งหมด กล่าวคือรัฐไทยรับความรู้เกี่ยวกับแนวคิด วิธีการในการกำหนดลักษณะการใช้ที่ดินไว้ แต่ไม่ได้รับแนวคิดในการบังคับใช้ ทำให้ไม่มีการยกร่างพระราชบัญญัติการผังเมืองใหม่ตามแนวทางการวางแผนเมืองแบบอเมริกัน ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลครอบงำของโครงสร้างอำนาจเดิม และกลุ่มอำนาจใหม่ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับรัฐ อีกทั้งกลุ่มอำนาจเหล่านี้ยังมีฐานรากความคิดอยู่บนโลกทัศน์เชิงอนุรักษ์นิยม การบังคับใช้กฏหมายผังเมืองจึงเป็นไปในลักษณะการประสานผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ และไม่มีการยกร่างกฏหมายเพื่อบังคับใช้ผังเมืองอย่างเต็มรูปแบบตามแนวทางที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอ

    ตอบลบ
  3. ชูชาติ 3

    โดยอาจกล่าวได้ว่าโครงสร้างเชิงอำนาจดังกล่าวเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการจัดการพื้นที่เมือง ทั้งนี้ หากนำที่ดินที่ถูกถือครองโดยกลุ่มอำนาจข้างต้นมาพิจารณารวมกัน จะพบว่าเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศแทบทั้งสิ้น การยกร่างกฏหมายเพื่อบังคับใช้ผังเมืองอย่างเต็มรูปแบบจึงเป็นอุปสรรคต่อการขูดรีดค่าเช่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจเหล่านั้น ทำให้เกิดเป็นแรงต้านในผลักดันกฏหมายผังเมือง ทั้งยังทำให้กฏหมายที่ตราขึ้นไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ตามเจตนารมย์ของผัง ส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่เมืองในเชิงปริมาณเป้นไปอย่างแทบจะไร้การควบคุมโดยสิ้นเชิง
    กระนั้นในช่วงกลางของครึ่งแรกของพุทธศตวรรษ 2500 ก็เกิดปรากฏการณ์ กระแสความตื่นตัวทางประชาธิปไตย และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรเมือง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากรและการใช้พื้นที่เมืองอย่างมาก อันเป็นจุดเริ่มต้นในการทบทวนกฏหมายผังเมืองอย่างจริงจังโดยหมุดหมายที่สำคัญก็คือการตราพระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518 และกฏหมายผังเมืองอื่นๆ อย่างไรก็ตามการจัดการพื้นที่เมืองในประเทศไทยก็ยังต้องการกรอบอำนาจเพื่อสร้างระบบในการจัดการพื้นที่เมืองที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคม ของเมือง เพื่อให้การจัดการพื้นที่เมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อยังประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่มในเมืองอย่างเท่าเทียมกัน

    ตอบลบ
  4. นำเสนอ อาจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    นโยบายด้านเมืองหลักและเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคโดยทั่วไปนั้น รัฐจะต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์ที่ให้เมืองนั้นๆมีประสิทธิภาพในแง่ การผลิต การค้า ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ มีคุณภาพของการให้บริการทางสังคม โครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในเมืองนั้นๆ ทั้งนี้ การที่จะสามารถที่จะทำให้เมืองมีระบบที่ดี มีการผังเมืองที่ดีก็จำเป็นจะต้องพึงพากลไกของระบบราชการเป็นสำคัญ เนื่องจากระบบราชการเป็นพลังหลักในการชี้นำนโยบายของชาติ สามารถส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคประชาชนและภาคเอกชน นายทุนต่างๆเข้าร่วมในการพัฒนาเมืองได้ อย่างไรก็ตาม รัฐและระบบราชการของไทยนั้นมิได้มุ่งเน้นให้เมืองมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกด้านแต่รัฐจะเน้นการถ่ายทอดอำนาจทางราชการเป็นหลักมิได้คำนึงถึงภาพรวมในการกระจายอำนาจที่แท้จริงว่าจะกระทบเรื่องใดบ้าง

    ตอบลบ
  5. นำเสนอ อาจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    การที่เกิดเมืองต่างๆขึ้นมานั้นรัฐก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เมืองเกิดขึ้น การขยายตัวของระบบราชการต่างๆในท้องถิ่นสำหรับประเทศไทยนั้นหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญที่จับเอานโยบายหลักของรัฐไปดำเนินการแต่ ทั้งนี้การดำเนินการก็เป็นไปตามแนวความคิดที่ถูกตีความตามบริบทของพื้นที่ เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่อำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ถ้าถามว่านโยบายหลักที่ระบบราชการจะต้องดำเนินการให้กับเมืองนั้นคืออะไร ก็จะต้องตอบสั้นๆว่าคือ หน่วยราชการจะต้องเป็นตัวหลักที่จะต้องสร้างความสามารถของเมืองเพื่อสนองตอบต่อประโยชน์ส่วนร่วมของประชาชน แต่คำถามที่คนทั่วไปมักสงสัยคือ ทำไมการพัฒนาเมืองจริงๆแล้วไม่ได้คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างรถไฟฟ้า BTS ซึ่งเป็นนโยบายจากหน่วยงานของรัฐถามว่าคนจนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากว่าเป็นแก้ไขปัญหารถติดให้กับมนุษย์เงินเดือนหรือภาคแรงงานอย่างเป็นทางการ(formal sector) หรือการสร้างสะพานไทย-ลาวข้ามแม่น้ำโขง ถามว่าคนพื้นในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาวชอบเดินทางไปมาหาสู่กันใช่หรือไม่ หรือเพราะกลุ่มทุนรายใหญ่ เร่งผลักดันหน่วยราชการตลอดจนนักการเมืองเพื่อจะใช้ประโยชน์จากสะพานในด้านการขนส่งทรัพยากรอะไรบางอย่างหรือตอบโจทย์ทางธุรกิจระดับชาติ เป็นต้น ซึ่งก็ยากที่จะคาดเดาได้(ความเห็นของนายพรหมพรต รุจิชัย)

    ตอบลบ
  6. นำเสนอ อาจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    กลับมาสู่เรื่องของเมืองอีกครั้ง สำหรับกลไกที่สำคัญกลไกหนึ่งซึ่งเมืองจะขาดไปเสียมิได้ก็คือ กฎหมายสำหรับควบคุมกติกาในเมือง ในเชิงของผังเมือง ก็มีกฎหมายผังเมือง สำหรับกฎหมายผังเมืองนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชนทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ผลประโยชน์ของประชาชนนั้น คือ เจ้าของที่ดิน ผู้อยู่ใกล้เคียง สิ่งหรือที่สาธารณะที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีการตราพระราชบัญญัติการผังเมืองและชนบทออกมา ในปี พ.ศ. 2495 แต่กฎหมายฉบับนี้ระหว่างที่ใช้อยู่ก็ไม่ค่อยมีบทบาทมากนักเนื่องจากเพราะว่ากว่าจะเริ่มมีหน่วยงานหลักเข้ามาดูแลเป็นเรื่องเป็นราว(ซึ่งคือสำนักผังเมือง)ก็ใช้เวลาถึง 10 ปี คือ ปี พ.ศ. 2505 ถึงจะเริ่มรับผิดชอบหน้าที่อย่างจริงจัง

    ตอบลบ
  7. นำเสนอ อาจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    จนกระทั่งต่อมามีการปฏิรูปกฎหมายผังเมืองกันใหม่และได้มีพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบันนี้โดยมีการปรับปรุงแก้ไขอีกสองครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2535 สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมโยธาธิการและผังเมือง แต่เราจะสังเกตได้ว่ากว่ากฎหมายจะออก กว่าจะมีหน่วยงานดำเนินการมันกลับมีความล่าช้า ไม่สอดรับกับเมืองแต่ละเมืองซึ่งโตและมีการขยายตัวของเนื้อเมืองและจำนวนประชากรโดยเฉพาะเมืองสำคัญๆ ยกตัวอย่าง พื้นที่กรุงเทพมหานครต้องการจะให้มี GREEN BELT โดยรอบเมืองเพื่อป้องกันการขยายตัวของเมืองกรุงเทพมหานคร แต่ในความเป็นจริงก็ทำไม่ได้เพราะกฎหมายของเราล้าหลัง ไม่ได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้าไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง การมาแก้ไขกฎหมายก็ทำได้เพียงป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแต่ไม่มีผลย้อนหลังสำหรับสิ่งที่เป็นไปแล้ว สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาไปแล้วก็ยากหากจะมีการจัดการที่ดี แล้วยิ่งเมืองยิ่งโตแต่หากยังไม่มีความพร้อมของนโยบาย ความพร้อมของแผนงานของหน่วยงานราชการที่สามารถใช้บังคับควมคุมกติกาของเมือง ให้ทุกภาคส่วนปฎิบัติตามกติกา ในอนาคตเมืองจะยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆหากระบบราชการยังไม่มองให้เห็นปัญหา ไม่มีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การที่รัฐจะใช้ระบบราชการเป็นพลังงานในการผลักดันเมืองหรือพัฒนาเมืองยอมต้องมีปัญหาในที่สุด หรือจริงๆแล้วการที่รัฐใช้กลไกด้านระบบราชการมาตั้งแต่เริ่มแรกอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอก็เป็นได้เพราะมองด้านการกระจายอำนาจเพื่อควบคุมพื้นที่เชิงการเมือง แต่ไม่ได้คำนึงถึงกายภาพที่ควรจะเป็น สังคมที่ควรจะเป็น เป็นต้น

    ตอบลบ
  8. นำเสนอ อาจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
    โดย นายพรหมพรต รุจิชัย

    สรุปสาระตลอดจนข้อคิดเห็นจากบทความ
    • นโยบายเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคของไทยรัฐมุ่งเน้นด้านการจัดการด้านการปกครองเป็นหลักมากกว่าด้านเศรษฐกิจที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น รัฐมีนโยบายที่จะทำให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคของภาคอีสานเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์มากกว่าจะเป็นการออกแบบเมืองที่สอดรับกับระบบผังเมือง
    • การขยายตัวของระบบราชการไทยที่มีมากขึ้นก็เพราะว่าระบบราชการไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการพัฒนาประเทศ เพราะฉนั้นเมืองก็ต้องขยายตัวไปตามระบบราชการด้วย
    • การเติบโตของเมืองโดยเฉพาะในเมืองไทย ผันแปรตามลักษณะส่วนบุคคลของราชการส่วนภูมิภาค
    • กลุ่มวัด กลุ่มวัง กลุ่มราชการมีผลกระทบกับกฎหมายผังเมืองไทย กล่าวคือ 3 กลุ่มนี้ถ่วงไม่ให้กฎหมายผังเมืองเกิดขึ้น เพราะทั้ง 3 กลุ่มครอบครองที่ดินไว้เป็นจำนวนมาก
    • ความล้าหลังทางกฎหมายของไทยทำให้การติดตามแก้ไขปรับปรุงและการจัดการพื้นที่เมืองเป็นไปด้วยความยากลำบากในขณะที่เมืองกำลังโต

    ตอบลบ
  9. บทสะท้อนทางความคิดต่อบทความเรื่อง "การจัดการพื้นที่เมือง เพื่อสร้าง พื้นที่ประเทศไทย ทศวรรษ 2500
    ปองพล ทองสมจิตร 1/6

    หากวิเคราะห์ความหมายของพื้นที่เมืองที่ส่งผลต่อพื้นที่ประเทศไทยตามนัยของผู้เขียนบทความนั้นเห็นได้ว่า เป็นการไล่เรียงวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการทางผังเมือง ในทศวรรษ 2500 ซึ่งเป็นยุคที่เกิดการปฏิรูปในหลายด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นถึงการจัดการพื้นที่เมืองของภาครัฐที่ส่งผลให้เกิดพื้นที่ประเทศไทยขึ้นในเวลาต่อมา

    ตอบลบ
  10. ปองพล ทองสมจิตร 2/6
    แต่หากจะพิจารณาถึงช่วงเวลาดังกล่าวเปรียบเทียบกับในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งอาจไม่แตกต่างจากบทความดังกล่าวเท่าใดนัก นั่นคือการพัฒนาที่มิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาเกิดขึ้นจากบทบาทของผู้นำในท้องถิ่นหรือพื้นที่นั้นๆ โดยมิได้มีการบังคับใช้แนวทางการพัฒนาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งที่มีความพยายามที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาตามหลักวิชาการที่พยายามบัญญัติไว้ดังเช่น พระราชบัญญัติการผังเมืองและกฎหมายการจัดการอาคารและที่ดินฉบับอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การนำกฎหมายไปบังคับใช้กับเป็นการกระทำที่มิได้ถูกให้ความสำคัญตามเป้าประสงค์ ไม่มีการแสดงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นหากการพัฒนาไม่เป็นไปตามแผนและไม่มีการชี้ให้เห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามแผน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ ก็ยังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันและดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจเป็นแนวคิดที่ฝั่งรากลึกของระบบราชการและสังคมไทย ซึ่งเสมือนว่าระบบราชการจะเป็นศัตรูต่อประชาชน แทนที่จะเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้ประชาชนมีความสะดวกสบายมากขึ้น จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่เห็นความสำคัญและไม่เกิดการไว้ใจในทางปฏิบัติว่าสิ่งที่ภาครัฐกำลังทำนั้นทำเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนใหญ่หรือประโยชน์กับแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแค่ส่วนหนึ่ง

    ตอบลบ
  11. ปองพล ทองสมจิตร 3/6
    ดังนั้นการตั้งป้อมโจมตีมักเกิดขึ้นอยู่เสมอเมื่อมีโครงการพัฒนาใหม่ขึ้นและจะมีคำถามว่าบุคคลใดเป็นผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้มาก่อนคำถามว่าประเทศกำลังได้ประโยชน์อย่างไรก่อนเสมอ อีกทั้งแนวทางการพัฒนาที่ปรับเปลี่ยนไปตามนโยบายของคณะผู้บริหารยุคหนึ่งไปสู่ยุคหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าการพัฒนาในรัฐบาลหรือผู้บริหารยุคหนึ่งจะเป็นปฏิปักษ์ ต่อผู้บริหารอีกยุคหนึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่เดียวกัน เมืองเดียวกัน หรือแม้แต่ประเทศเดียวกัน การบริหารโดยยึดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลักย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเมื่อเปลี่ยนตัวผู้บริหาร ดังนั้น พื้นที่ประเทศที่เกิดขึ้น จึงเปลี่ยนไปตามพื้นที่ส่วนบุคคลของผู้บริหารและมีนัยต่อการบริหารประเทศในยุคนั้นๆ แล้วจึงขยายผลต่อไปเป็นพื้นที่ชุมชน พื้นที่เมือง และพื้นที่ประเทศตามลำดับ

    ตอบลบ
  12. ปองพล ทองสมจิตร 4/6
    ทั้งนี้ จากงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีส่วนต่อการจัดการพื้นที่เมือง แต่ในความเห็นส่วนบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพื้นที่เมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดการพื้นที่เมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตัวน่าเป็นการจัดการที่เกิดขึ้นจากระดับตัวบุคคลมากกว่าระดับนโยบายจากภาครัฐ โดยหากพิจารณาตามนัยภาครัฐที่ผู้เขียนหมายถึงระบบกลไกภาครัฐ ทั้งในส่วนบริหารและกฎหมายที่เป็นเครื่องมือบังคับใช้ซึ่งอาจเป็นแค่คู่มือการพัฒนา หรือ เพียงแค่ป้องกันการทุจริตและการปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งมิได้สนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติงานอย่างสุจริตหรือการพัฒนาสิ่งใหม่ ดังนั้นการพัฒนาที่เกิดขึ้นและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้นจึงมักจะเริ่มจากการพัฒนาที่เกิดจากตัวบุคคลที่พร้อมจะต้องต่อสู้กับระบบที่วางไว้หากผู้นั้นมีจิตบริสุทธิ์ในการพัฒนาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่แท้จริง นั่นคือมีเป้าประสงค์ในการพัฒนาเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงโดยนำตัวเองเข้าแลกกับความเสี่ยงในการเจริญก้าวหน้าในสายงานที่อาจจะเกิดขึ้นหากการกระทำดังกล่าวไปขัดต่อผลประโยชน์หรือนโยบายของผู้บริหาร หรือตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ควบคุมการทุจริตที่ส่งผลให้บุคลากรส่วนใหญ่นิ่งเฉยโดยไม่ปฏิบัติการใดๆ

    ตอบลบ
  13. ปองพล ทองสมจิตร 5/6
    แต่กระนั้นก็ตามแม้กฎระเบียบต่างๆจะออกมาเพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตที่มีอยู่อย่างมากมายนั้น ก็มิได้หมายความว่าการทุจริตที่เกิดขึ้นนั้นมีน้อย เนื่องจากเมื่อมีกฎระเบียบมากแสดงให้เห็นถึงการมีผู้เห็นถึงช่องว่างมาก ดังนั้นหากไม่พัฒนาให้ถึงเบื้องลึกของการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวก่อน การพัฒนาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอาจเกิดขึ้นมิได้ ดังขอยกตัวอย่างเช่นแผนพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในปัจจุบันที่เป็นแผนแม่บทนี้ยังมิได้มีการจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจนว่าจะต้องสร้างสายใดก่อนหลัง แต่ละสายมีความสำคัญเช่นไร ความคุ้มทุนคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในแต่ละสายนั้นเป็นอย่างไร จะต้องพัฒนาระบบราง ระบบล้อ หรือแต่ละระบบจะต้องมีความสอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ชี้นำการพัฒนาเมืองที่จะต้องวางแผนล่วงหน้าหลายสิบปี ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นภาพที่เกิดขึ้นที่แปรเปลี่ยนไปตามผู้บริหารที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุค ซึ่งการดังกล่าวอาจเป็นผลดีหากผู้บริหารในยุคนั้นมุ่งผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

    ตอบลบ
  14. ปองพล ทองสมจิตร 6/6
    ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงการพัฒนาในช่วงเวลาที่สะท้อนออกมาที่แตกต่างกันนั้นเป็นผลจากเหตุของการพัฒนาที่ไม่มีความเข้าใจหรือไม่ให้ความสำคัญกับคำว่าพื้นที่ประเทศอย่างถ่องแท้ของผู้บริหาร ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่ประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ควรจะเริ่มจากการพัฒนาในตัวของบุคคลให้มีจิตสาธารณะก่อนอื่น ตราบใดการพัฒนาที่เกิดขึ้นมีคำถามตามมาเสมอว่าทำแล้วข้าพเจ้าได้ประโยชน์อย่างไรโดยมิได้เกิดจากแกนความคิดที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ประเทศเป็นหลักแล้วนั้น ความหมายของพื้นที่ประเทศไทยที่แท้จริงนั้นก็คงจะยังเป็นคำตอบที่อยู่ในอุดมคติต่อไป

    ตอบลบ
  15. บทความนี้ได้สะท้อนแนวความคิดของภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ (2552) ต่อเครื่องมือการวางผังเมืองคือพระราชบัญญัติการผังเมืองและการผังชนบท พ.ศ.2495 และพระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518 เพื่อการจัดการพื้นที่เมืองนัยของพื้นที่ประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความยุ่งยากปัญหานานับประการในการพัฒนาเมืองตามแผนพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างแท้จริง ด้วยข้อจำกัดความเป็นไทย รากฐานของไทย โครงสร้างการบริหารประเทศของไทย ลักษณะการถือครองที่ดิน กลุ่มทุน/อำนาจสามารถเบี่ยงทิศทางการเติบโตของเมืองที่ควรจะเป็น ลงมาถึงบุคลิกของคนไทยส่วนใหญ่ที่ผู้บังคับใช้กฏหมายและผู้อยู่ภายใต้กฏหมายมีความตระหนักค่อนข้างน้อยที่จะถือเอากฏหมายเป็นธรรมนูญต่อการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม
    ในบทความภิญญาพันธุ์ ได้แสดงถึงความแปลกประหลาดใจของนักวิชาการผังเมืองไทยจำนวนมากที่หลังจากการจัดทำผัง Greater Bangkok Plan 2533 หรือผังลิทช์ฟิลด์ เสร็จแล้วสหรัฐอเมริกาได้ส่งที่ปรึกษานามว่า ไซรัส อาร์ นิมส์ (Cyrus R. Nims) เข้ามาทำงานเกี่ยวกับการยกร่างพระราชบัญญัติผังเมืองโดยเฉพาะที่แสดงถึงความก้าวหน้าของกระบวนการวางผังเมืองไทยในอนาคต แต่ผลงานของเขาไม่ได้รับการตอบสนองต่อรัฐบาลไทยแต่อย่างใด จนกระทั่งการเกิดของพระราชบัญญัติการผังเมือง 2518 ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะว่าระบบโครงสร้างอำนาจของไทยยังไม่เอื้อต่อความก้าวหน้าของประเทศ ระบบการควบคุมอำนาจจากส่วนกลางมายังส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นมันใหญ่และล้าสมัยเกินไปที่อำนาจส่วนกลางจะควบคุมและแก้ปัญหาสำคัญของประเทศได้ทั้งหมด ปัญหาการจัดการพื้นที่เมืองจึงถูกสั่งสมเรื่อยมาจนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่รอวันจะแตกสลาย เพราะการจัดการพื้นที่เมืองนัยการจัดการพื้นที่ประเทศไทยจะกระทบต่อวิถีชีวิตของทุกกลุ่มชนชั้นในสังคมประเทศ ตัวอย่างการแตกตัวและเห็นเป็นรูปธรรมจากปรากฏการณ์เหลือง-แดง (2550-2553) และขยายความขัดแย้งในสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

    ตอบลบ
  16. อย่างไรก็ตามบทความฯ ยังแสดงออกถึงความคาดหวังว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการพื้นที่เมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นจริงและปฏิบัติได้ก็พอจะเป็นแนวทางให้สังคมไทยพยุงตัวลุกขึ้นเผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์พัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นหลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ก้าวหน้าไปกว่าไทยมากแล้ว หรือเวียต นาม (ดาวรุ่ง) กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว หลังที่พวกเขาเคยเดินตามหลังประเทศไทย การปฏิรูปประเทศเพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทยที่หลายฝ่ายพยายามจะร่วมมือกันสร้างขึ้นในขณะนี้ก็อาจจะเป็นเครื่องมือการจัดการพื้นที่เมืองที่ดีและเจริญได้ หากแผนปฏิรูปนี้ไม่ติดบ่วงในโครงสร้างอำนาจอันล้าหลังไปได้ แต่ความคาดหวังของภิญญพันธุ์ อาจจะล้มเหลวได้หากได้ย้อนกลับไปพิจารณาถึงแผนปรับเปลี่ยน/ปฏิรูปประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในห่วงเวลาต่างๆ แผนปฏิรูประบบราชการ แผนปฏิรูประบบการศึกษา เป็นต้น มักจะประสบกับความล้มเหลวมาก่อนแล้ว เมื่อคำนวณจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็อาจเป็นไปได้ว่าแผนปฏิรูปประเทศ (2553) ในคราวนี้คงมีนิยายตอนจบไม่ต่างจากที่แล้วมา แล้วเราจะมาหวังกับการจัดการพื้นที่ประเทศไทยได้อย่างไร
    ปัญหาที่ภิญญพันธุ์ สะท้อนมาทั้งหมดในบทความฯ ของเขา ผมคิดว่าแนวทางแก้ปัญหาที่จัดการพื้นที่เมืองคือการปรับปรุงระบบการถือครองที่ดินของเอกชนและรัฐให้มีความเป็นธรรมกับคนไทยส่วนใหญ่ แม้ว่าที่ดินของรัฐและเอกชนจะยึดโยงกับภูเขาของระบบอุปถัมภ์ที่ฝั่งรากลึกมานานในสังคมไทย การเสียสละ ความกล้าหาญ ความโปร่งใส ในระดับสถาบัน ของไทยน่าจะเป็นแสงสว่าง ณ ปลายทางอุโมงค์เพื่อกการจัดการพื้นที่เมืองและพื้นที่ประเทศไทยได้

    ตอบลบ
  17. ศศิธร กล่าวว่า
    บทสะท้อนทางความคิดต่อบทความเรื่อง "การจัดการพื้นที่เมือง เพื่อสร้าง พื้นที่ประเทศไทย ทศวรรษ 2500
    ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย

    ได้แสดงถึงความเห็นต่อการจัดการพื้นที่ของประเทศไทย เน้นที่ส่วนเมืองและส่วนภูมิภาค ที่มีอิทธิพลจากภาครัฐเข้ามาครอบงำ จนถึงขั้นบงการ จนถึงผังเมืองลิชฟิล ( Greater Bangkok 2533) มีลักษณะเป็นผังเมืองรวม(Comprehensive Plan) นับเป็นการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบครั้งแรกในประเทศไทย สาเหตุมูลฐานของความยากจนที่ไม่เป็นธรรม นั่นคือปัญหาที่ดิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขแห่งชีวิต การปล่อยให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์เต็มที่ในที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติ มิได้มีมนุษย์ผู้ใดลงทุนลงแรงสร้างขึ้นมา การไม่เก็บภาษีที่ดินสูงๆ ทำให้เกิดการเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน ทำให้แผ่นดินของประเทศชาติไม่ได้รับการทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ความไม่เท่าเทียมกันในกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื่องจากความยากจนทำให้คนจำนวนมากต้องขอเช่าที่ดินจากผู้อื่น การเก็บภาษีทั้งหลายแหล่ยกเว้นภาษีที่ดิน ได้ก่อให้ เกิดผลร้าย เช่น ถ่วงความร่วมมือในการผลิต ทั้งภายในประเทศด้วยกัน และกับต่างประเทศ ทำให้ผลผลิตลดลง และการว่างงานรุนแรงขึ้น ทำให้ของแพงและค่าแรงต่ำ การที่รัฐบาลออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งกลายเป็นการส่งเสริมอภิสิทธิ์อำนาจผูกขาด ทำให้เกิดการกดขี่ขูดรีด ทำให้ราษฎรส่วนใหญ่เดือดร้อน เหล่านี้คือสาเหตุของความยากจนที่เริ่มจากความไม่เป็นธรรม

    ตอบลบ
  18. การเร่งรัดพัฒนาประเทศ จะทำได้ก็แต่โดยรัฐบาลจะต้องเก็บภาษีให้มากขึ้น ผู้เสียภาษีคือราษฎรทั่วไป ผลร้ายของภาษีคือทำให้ของแพง ถ่วงการผลิต และค่าแรงต่ำ แต่ส่วนผลดีของการพัฒนาประเทศ เช่นการสร้างถนน สะพาน การชลประทาน กลับไปตกอยู่กับเอกชนเจ้าของที่ดินแต่ละคน ผู้เช่าที่ดินซึ่งต้องเสียภาษีต่างๆ มากขึ้นอยู่แล้ว ก็กลับต้องเสียค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลของภาษีที่เอาไปพัฒนานั่นเอง นับได้ว่าเป็นการเสีย 2 ต่อ ความอยุติธรรมเช่นนี้ได้ส่งผลพอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดมาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้น ผลของการพัฒนาประเทศจึงเสมือนลิ่มที่ตอกผ่ากลางระหว่างกลุ่มคนจนกับกลุ่มคนรวย แยกชน 2 กลุ่มนี้ให้เกิดช่องว่างระหว่างกลางมากขึ้น ยกกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่แล้วให้ยิ่งร่ำรวยขึ้น และกดกลุ่มที่ยากจนลงให้เกิดความยากแค้นมากยิ่งขึ้น จึงเกิดคำถามกันขึ้นว่า “เราพัฒนาไปเพื่อใคร ?”
    จากนักทฤษฎีทางสังคม 3 ท่าน 1.Marx ทฤษฎีทางสังคมวิทยาของมาร์ก เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงลบ ที่ขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มในสังคม โดยจะเน้นเรื่องของ วัตถุ พูดถึงความเหลื่อมล้ำ การแบ่งชนชั้น (social stratification) 2.Weber เชื่อว่าการกระทำของสังคม(social action) คือ ผลรวมของการกระทำทางสังคมของมนุษย์ โดยมีผลประโยชน์เป็นตัวกำหนด 3.Durkheim พูดถึงความแปลกแยก คือความรู้สึกเป็นคนแปลกถิ่น เป็นคนนอกสังคม และความรู้สึกเป็นคนละพวกกับคนกลุ่มใหญ่
    ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นล้วนแล้วแต่จะพยายามแก้ไขปัญหาสังคมผ่านเมือง โดยผ่านการใช้ประโยชน์ที่ดิน แฝงผ่านทางนโยบาย สร้างสังคมและเมืองที่อยู่รวมกันอย่างเหมาะสมต่อไป

    ตอบลบ
  19. การจัดการ ”พื้นที่เมือง” เพื่อสร้าง “พื้นที่ประเทศไทย” ทศวรรษ ๒๕๐๐
    ธนัช สุขวิมลเสรี

    การหลั่งไหลเข้ามาของเทคโนโลยี ทุน และการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสถาปนิก ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ในทศวรรษ ๒๕๐๐ ทำให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง ซึ่งมิได้ส่งผลกระทบอย่างจริงจังและหนักแน่นต่อสังคมเท่าที่ควร โดยผู้เขียนให้ความเห็นว่า การเมืองภายในศิลปะสถาปัตยกรรม หาใช่กุญแจที่จะนำไปสู่คำตอบ แต่ควรจะเป็นพื้นที่ทางกายภาพ ที่เรียกว่า “พื้นที่เมือง” เนื่องจากตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา พื้นที่เมืองได้เกิดการขยายตัวอย่างมาก และสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนไทยและสังคมไทย การที่รัฐเข้ามามีอำนาจในการจัดการพื้นที่เมืองอย่างเข้มข้น ได้ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพที่สำคัญของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย จนกลายเป็นพื้นที่ใหม่ชนิดหนึ่ง เรียกว่า “พื้นที่ประเทศไทย” ประกอบด้วย ๒ ด้าน คือ ด้านการมุ่งพัฒนาทำประเทศให้ทันสมัย และด้านการฟื้นฟูและเชิดชูความคิดแบบอนุรักษ์นิยม

    ตอบลบ
  20. ก่อนทศวรรษ ๒๕๐๐ ความสามารถของรัฐ ในการสร้างพื้นที่ทางกายภาพในตัวเมือง และการสร้างระบบสาธารณูปโภคให้เชื่อมโยงกันในระดับประเทศและท้องถิ่น มีประสิทธิภาพที่ต่ำมาก ส่วนใหญ่เป็นเพียงแผนงานและโครงการที่ไม่สามารถบรรลุได้จริง รัฐจึงสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการสร้างพื้นที่ทางกายภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้เกิดการระดมทรัพยากรจำนวนมากเพื่อให้บรรลุผล เมืองจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดการขยายตัวของเมืองในภูมิภาคทั้งระดับอำเภอและจังหวัด อำนาจรัฐจะกระทำผ่านเจ้าหน้าที่ปกครอง ที่เป็นผู้นำในการดึงดูดทรัพยากรจากท้องถิ่นเพื่อการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น อาคารสถานที่ราชการ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐที่ได้ขยายเข้ามาและสร้างสัมพันธ์เชิงอำนาจกับประชาชนอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็น “มิติของการพัฒนาเชิงปริมาณ”

    ในอีกด้านหนึ่ง เป็นความพยายามจัดสมดุลของการพัฒนาโดยการวางแผนรองรับด้วยกฎหมายที่มีกรอบควบคุมทิศทางและส่งเสริมในการพัฒนาพื้นที่เมือง เรียกว่า “มิติของการควบคุมเชิงระบบ” ซึ่งก็คือ กฎหมายการควบคุมการกระทำต่างๆ เกี่ยวกับเมือง และกฎหมายผังเมือง ได้แก่ พรบ.การผังเมืองและชนบท พ.ศ.๒๔๙๕ ตามแบบกฎหมายผังเมืองอังกฤษ (Town and Country Planning Act) โดย พรบ. ดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการตามหลักวิชาการผังเมืองได้จริง เนื่องจากขาดงบประมาณ ขาดความชัดเจนของกฎหมาย และยังขาดความรู้ตามมาตรฐานวิชาการสมัยใหม่

    ในทศวรรษ ๒๕๐๐ สหรัฐมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก ในการถ่ายทอดความรู้สมัยใหม่ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เกิดโครงการจัดทำผังลิทช์ฟิลด์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการที่ผังเมืองถูกทำให้เป็นอเมริกัน นำไปสู่ City (Urban) and Regional Planning ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาของสภาพัฒน์ อย่างไรก็ตาม ผังลิทช์ฟิลด์ ก็มิได้นำมาปฏิบัติได้จริง

    ตอบลบ
  21. ความเร่งรีบในการสนองนโยบายพัฒนาการของรัฐ ทำให้เมืองขยายออกไป โดยมิได้ร่วมพิจารณากับวิชาการผังเมือง ปัจจัยหนึ่งก็คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๙ เน้นการพัฒนารวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง และความพยายามกระจายสู่ส่วนภูมิภาคในปลายทศวรรษ รัฐขยายอำนาจลงมามีบทบาทในการสร้างพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มอัตราการพัฒนาพื้นที่อย่างปลอดการควบคุมและมิได้อยู่บนฐานการทำงานที่อิงวิชาการผังเมืองมากขึ้น ช่องทางที่รัฐใช้อำนาจสร้างพื้นที่ แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

    ส่วนกลาง จะเป็นการกระทำของรัฐบาลมากกว่าจะเป็นสำนักงานผังเมือง รัฐทำการเร่งพัฒนาเมือง โดยเลือกโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคจากโครงการศึกษาผังเมืองบางโครงการออกมาใช้อย่างโดดๆ โดยแยกออกจากระบบเดิม ทำให้เกิดความไม่เชื่อมโยงกับระบบเดิมที่ได้วางไว้

    ตอบลบ
  22. ส่วนภูมิภาค มีนโยบายการจัดให้มีจังหวัดศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อให้เป็นที่รวมของงานส่งเสริมต่างๆ ของรัฐบาล และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่จะเชื่อมกับหมู่บ้านให้ติดต่อกับจังหวัดได้สะดวก แนวคิดก็คือ ให้ศูนย์กลางมีความเจริญที่ครบบริบูรณ์ แล้วความเจริญก้าวหน้าจะลดหลั่นกระจายออกไปยังท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงไปเอง นโยบายนี้บีบให้การเมืองและอำนาจท้องถิ่นไร้ความสำคัญ การทุ่มเทงบประมาณและทรัพยากรจึงถูกจัดสรรให้เมืองศูนย์กลาง ทำให้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางการบริหารราชการขนาดใหญ่ขึ้น ตัวแทนของรัฐที่เป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค เป็นผู้ปฏิบัติหลักในการพัฒนาเมืองโดยเอกเทศ อย่างปราศจากหลักวิชาการผังเมือง ซึ่งทักษะต่างๆ มักเกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณและประสบกสารณ์เป็นหลัก

    ส่วนท้องถิ่น จะถูกผูกมัดอยู่กับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ผู้บริหารส่วนใหญ่ได้รับการแต่งตั้งมาจากข้าราชการส่วนภูมิภาค ดังนั้น นโยบายต่างๆ จึงได้รับมาจากส่วนภูมิภาคเป็นหลัก

    ตอบลบ
  23. จะเห็นได้ว่า การจัดการพื้นที่เมืองมีข้อจำกัดอยู่สูง เนื่องจากมีผู้ได้รับผลประโยชน์ได้เสียเป็นจำนวนมากจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ โดยในตลอดทศวรรษ ๒๕๐๐ ไม่ปรากฏว่า รัฐได้ตรากฎหมายในการจัดการพื้นที่เมืองเลย การที่รัฐจะตรากฎหมายผังเมืองฉบับใหม่จึงเป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจในพื้นที่ของรัฐและเจ้าของพื้นที่ต่างๆ ด้วย การกระจายตัวของการครอบครองที่ดินจะอยู่ในมือของชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม เช่น กลุ่มวัง วัด และทุนธนาคาร ซึ่งหากนำพื้นที่ทั้งสามมาพิจารณารวมกันแล้ว จะเป็นพื้นที่ผืนใหญ่ที่สุด จึงเป็นเหตุผลที่ร่าง พรบ. การผังเมือง จึงไม่สามารถจะถูกตราขึ้นมาได้อย่างสะดวก

    กระแสการตื่นตัวทางประชาธิปไตย เป็นสาเหตุของความสำเร็จในการผลักดัน พรบ.ผังเมือง พ.ศ.๒๕๑๘ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่หนุน คือ การขยายตัวของประชากร ปัญหาจราจร เป็นต้น แต่ พรบ. ดังกล่าวก็เป็นความสมำเร็จเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากยังไม่มีอำนาจและกลไกรัฐที่ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติได้จริง

    ตอบลบ